ไม่ได้อ่าน…มันอายเขา

ไม่ได้อ่าน…มันอายเขา
..........

’ปรายที่รัก ขอให้ฉันได้ร่วมรื้อชั้นหนังสือที่บ้านด้วยคน ฉันไม่อยากพลาดโอกาสเหมือนกอร์ดอน ฉันรื้อทั้งชั้นไม่ไหว แต่จะรื้อเฉพาะชั้นหนังสือหัวเตียงเท่านั้น เอาเฉพาะที่ทูนไว้เหนือหัว (เตียง) เพื่อที่ฉันจะเอื้อมมือหยิบอ่านได้สะดวก
....
สือเหล่านี้บ้างซื้อเพราะชอบ บ้างเพราะลอง บ้างผู้ใหญ่แนะนำให้อ่าน มีคนหนึ่งพูดกับฉันว่า "หนังสือบางเล่มถ้าไม่ได้อ่าน...ไม่ตายหรอก แต่อายเขา" ฉันว่า’ปรายคงทราบว่าคนนั้นคือใคร ?? ฉันใบ้ให้นิดหนึ่ง...หนังสือ 3 เล่มแรกต่อไปนี้คือ "ไม่ได้อ่าน...อายเขา"
..........
ลองทายและตอบฉันด้วยนะ
.............
1)100แห่งความโดดเดี่ยว (กาเบรียล การ์เซีย มาเควซ) : อ่านยากมาก ต้องจิตนาการไปด้วยตลอดเล่ม ชื่อตัวละครซ้ำกันเยอะ อ่านครั้งแรกรู้สึกเฉยๆ ไม่ค่อยสนุกชวนอ่านเท่าไหร่ แต่เชื่อไหม…ฉันอ่านจบหลายรอบเชียวนะ เป็นหนังสือที่ต้องเหน็บไปอ่านทุกครั้งที่ออกเที่ยวต่างจังหวัด
.......
2) แนวรบด้านตะวันตกเหตุการณ์ไม่เคยเปลี่ยน (มจ.ขจรจบกิตติคุณ กิติยากร ทรงแปล) : ฉันเห็นหนังฮอลลีวูดบางเรื่องเล่นมุขชื่อหนังสือ ฉันจำไม่ได้แล้วว่าหนังเรื่องอะไร ประมาณว่าพระเอกกับพวกกำลังปฎิบัติการณ์อะไรซักอย่างแล้วก็ถามพรรคพวกว่าทางนี้โอเค ทางโน้นเป็นไงบ้าง ? เจ้าคนนั้นก็ตอบว่า “All quiet of Western front” เก๋ไหม ?
......
3) เกิดวังปารุสก์ (พระองค์จุลฯ) : พาฉันสู่ประวัติศาสตร์ ฉันแตกแขนงไปอีกหลายเล่มหลายรัชกาล ฉันอ่านตั้งแต่เวอร์ชั่นปกอ่อนขาวดำ ล่าสุดออกรวมเล่มกระดาษอาร์ตอย่างดี น่าซื้อเก็บไว้ แต่แพงจังตั้ง 800 แน่ะ
..............
4) Revolution King : No comment !!! คนไทยควรอ่าน ควรรู้ว่าในหลวงทรงยิ้มร่าเริงครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ เกิดอะไรขึ้น
...........
5) ล่องไพร (มาลัย ชูพินิจ) : ฉันชอบเรื่องชีวิตกลางแจ้งตกปลาล่าสัตว์ที่สุด ครูมาลัยเขียนหนังสือน่าอ่านจริงๆ อ่านแล้วเหมือนเดินตามหลังตัวละครเข้าไปในป่าตามเนื้อเรื่อง
...........
6) คึกฤทธิ์ (สมศักดิ์ ภู่กาญจน์) : ทั้งรักทั้งชังท่านนะ คนนี้เก่งจริงๆ เป็นคนมีบุญญาธิการ เก่งทุกเรื่องยิ่งด้านวรรณกรรมไม่ต้องพูดถึง เอาแค่ “ห้วงมหรรณพ” นั้นครูสง่า อารัมภีร์ ท่านนั่งอ่านแกล้มเหล้าไปด้วยแน่ะ ข.บ.(ย่อมาจาก ขอบอก) : ควรอ่าน"โครงกระดูกในตู้" ควบไปด้วย มีเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยมากมาย เช่น ชุดโคมไฟแก้วเจียรไนเหนือที่พระที่นั่งที่ในหลวงประทับนั้นมีที่มาอย่างไร
.............
7) เหมืองแร่ (อาจินต์ ปัญจพรรค์) : หลงรักเรื่องนี้เหลือเกิน ไม่รู้ว่าทำไม ฉันรอดูหนังที่เขาสร้างกันอยู่
...........
8) เจ้าพ่อ เจ้าเมือง (อาจินต์ ปัญจพรรค์) : ฉ้นคนเดียวที่จะบอกว่าเรื่องนี้แหละมาเตอร์พีช “เหมืองแร่” เป็นรองเรื่องนี้เรื่องเดียว
.....
9) ศึกเจ้าพระยา (สุจิตต์ วงศ์เทศ) : มันส์มาก เลิฟซีนเป็นมหากาพย์ชั้นครู ให้ดีควรอ่าน"คนดีศรีอยุธยา" ของเสนีย์ เสาวพงษ์ ด้วย
.......
10) ดาบอุปราช (มาลา คำจันทร์) : ฉันเพิ่งนำขึ้นหัวเตียงเป็นเล่มล่าสุด ให้ครบรสต้องอ่านเพิ่ม "เพื่อนเก่าและบ้านเกิด โดย วานิช จรุงฯ, "ร่ายยาวแห่งชีวิต โดย อาจินต์ ฯ, คนทุ่งกุลา โดย กำนัน เดช ภูสองชั้น (คนไรชื่องามแท้)
.......
สุดท้ายฉันคัดเลิฟซีนในศึกเจ้าพระยามาฝาก
..
"เนื้อนิ่มพิมพ์พญาของพุมเรียงเต้นระรัว ๆ ราวกับสำเภาจีนนายก่ายกำลังขันชะเนาะประกับใบประกบวงอยู่กับกงวาน ความหนืดของเชือกหนังพังผืดควายที่เค้นขันเบียดเสียดดังสนั่น แลเรือทั้งลำก็สะเทือนสะท้านปานประหนึ่งแผ่นกระดานกระดกกระดนโด่จะกระเด็นกระดอนออกเป็นชิ้นเป็นอัน”
......
“สองแขนแอ่นอ่อนของพุมเรียงดูเลเพลาดพาดราวกับกิ่งไม้ต้องพายูโหมตะโบมกวัดไกวไปมิรู้ทิศมิรู้ทาง ครั้นกิ่งเปราะเราะรานหักผางลงกลางดินนั้น ก้านเรียวระบัดก็เสียบสุมขยุ้มลงบนพื้นดิน คล้ายกับนิ้วลำเทียนประสมเล็บยาวจิกจับเข้ากับเนื้อหนังมังสาของเจ้าพันแสงที่เหนียวหนับไปด้วยเหงื่อไคล”
.....
“พันแสงมันละเมอเพ้อพกประหนึ่งในอกกำลังอัดอั้นรบศึกพระยาศรีกำพูที่กลางพายุฝนที่กระหน่ำซ้ำซัด สองแขนมันยกดาบขึ้นฟาดฟัดเสียงดังฉาด ๆ ฉาด ๆ อยู่มิหยุดยั้ง ข้างเจ้าพุมเรียงเล่าก็ราวกับนอนระนาบอยู่บนแพไม้ไผ่ลอยไปอยู่กลางทะเลกล้ามหาสมุทรกว้าง คลื่นแต่ละลูกที่ซัดสาดกระหน่ำมาก็ทำให้ร่างเผยอลอยขึ้น-ลงไปตามกระแสแต่ละจังหวะของคลื่นลม ท้ายที่สุดก็คล้ายตะหนกตกประหม่าว่าแพจะคว่ำคะมำหงาย ตกใจถึงขีดสุดจึงยุดมือทั้งสองข้างด้วยกำลังแรง คลื่นลูกสุดท้ายก็ซัดโครมเข้าให้จนเปียกปอนกะปลกปะเปลี้ยไปตามๆกัน”
.....
เสียงจิ้งหรีดกรีดปีกอยู่ไกลๆ ทั้งพันแสงแลพุมเรียงก็อ่อนอกอ่อนใจอยู่กระนั้นนาน ไส้เดือนดินค่อยๆคลานออกจากรังแล้วก็หดตัวนอนนิ่งผึ่งลมอยู่ข้างๆพูทุเรียนที่เหี่ยวเฉาทิ้งอยู่โคนต้นละมุดละเมียดละไม”
......
ข.บ. : พันแสงเป็นข้าราชการพระนครอโยธยา
(จาก : คุณชยันต์)


แม่มักบอกให้ฉันเลือกหนังสือดีๆ สักเล่ม


แม่มักบอกให้ฉัน
เลือกหนังสือดีๆ สักเล่ม
.....

ฉันเริ่มเรียนรู้ที่จะอ่านวรรณกรรมมาตั้งแต่เรียนอยู่ในสมัยประถมปลาย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีแววเป็นนักอ่านเลยซักนิด ชีวิตในวัยเด็กของฉันรู้แต่เพียงว่า หนังสือเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ และเราควรจะอ่านหนังสือเฉพาะก่อนสอบเท่านั้น เพราะถ้าหากทำคะแนนนออกมาไม่ดี มีหวังโดนบ่นไปหลายวัน แถมอาจจะถูกลดค่าขนมอีกด้วย
........
แม่ เป็นผู้ที่ทำให้ฉันหันมาสนใจในการอ่านหนังสือ เมื่อไรที่แม่พาฉันไปร้านหนังสือ แม่มักบอกให้ฉันเลือกหนังสือดีๆ ซักเล่ม แต่ฉันก็ไม่เคยสนใจ ทุกครั้งที่กลับมาจากร้านหนังสือ ฉันมักได้หนังสือติดมือกลับมาทุกครั้ง และก็เป็นทุกครั้งที่ฉันมักจะวางหนังสือที่ได้มาไว้บนชั้น และคิดเสมอว่า “มันก็น่าเบื่อ เหมือนๆกับหนังสือเรียนนั่นเเหละ”
.......
และในวันหนึ่ง แม่ก็ได้พาฉันไปร้านหนังสือเช่นเคย ฉันได้สะดุดตากับหนังสือวรรณกรรมเยาวชนเล่มหนึ่ง ซึ่งมีชื่อหนังสือว่า “เด็กหญิงอีดะ” บนหน้าปกมีรูปเด็กผู้หญิงคนนึง หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลแอนเดอร์เสนนานาชาติ เขียนโดย มัตสุทานิ มิโยโกะ แปลโดย ผุสดี นาวาวิจิต วรรณกรรมเล่มนี้ ใช้ภาษาง่ายๆ แต่อ่อนหวาน
..........
หนังสือ “เด็กหญิงอีดะ”เล่มนี้เป็นเเรงจูงใจที่ทำให้ฉันหันมาอ่านหนังสือวรรณกรรมเยาวชนในเวลาต่อมา อาทิเช่น “คาราวานนางฟ้า” เขียนโดย บีทริกซ์ พ็อตเตอร์ “ฮัคผจญภัย” เขียนโดย มาร์ค ทเวน โรนญ่า เขียนโดย แอสตริด ลินด์เกรน ซึ่งหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ฉันชื่นชอบมาก โดยใช้เวลาอ่านรวดเดียวจบ
......
ฉันมักจะนั่งจินตนาการไปตามเนื้อเรื้อง ที่มีปราสาทห้อมล้อมไปด้วยธรรมชาติที่ลึกลับชวนติดตาม
...........
“แล้วเราก็เป็นเพื่อนกัน”เขียนโดย อี.แอล.โคนิกส์เบิร์ก “โมโม่” เขียนโดย มิฆาเอ็ล เอ็นเด้ “พี้ชยักษ์” เขียนโดย โรอัลด์ ดาห์ลวรรณกรรมที่เต็มไปด้วยจินตนาการอันกว้างไกล
.........
“แม่มด” ผลงานอีกชิ้นนึงของ โรอัลด์ ดาห์ล หนังสือเล่มนี้ได้เปลี่ยนความคิดในวัยเด็กของฉันที่เคยอยากเป็นเเม่มด ให้เกลียดแม่มดไปอย่างสิ้นเชิง เพราะหนังสือเล่มนี้ได้พรรณนาลักษณะและบุคคลิกของแม่มด ออกมาอย่างน่าขยะเเขยงมาก
...............

“ปราสาทในมนตรา” เขียนโดยอี.เนสบิต “พราวแสงรุ้ง”วรรณกรรมที่ได้รับรางวัลหนังสือแห่งชาติ พ.ศ. 2530 ของ วาวแพร เป็นหนังสือดีอีกเล่มที่เด็กทุกคนควรอ่านอย่างน้อย 1 ครั้ง เพราะนอกจากจะได้รับความเพลิดเพลิน แล้วยังเป็นการขัดเกลาจิตใจให้มีจิตใจที่ดีงามอีกด้วย
...........
(จาก : สุลักษณ์ แซ่ตั้ง / จ.เชียงใหม่)

เกือบสิน้ำตาย้อยแล้วเด้อ!



5.
คุณ’ปราย คิดเบิ่งกะแล้วกัน
ข้อยผู้นั่งอยู่หนี่กะ
เกือบสิน้ำตาย้อยแล้วเด้อ
-----------
หวัดดีครับคุณ'ปราย
-----------
จะให้พูดถึงหนังสือที่ผมต้องอ่านก่อนตายนี่ อือ...พูดตรงๆ ผมยังไม่มีนะ และก็ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าชั่วชีวิตนี้จะมีโอกาสได้อ่านหรือเปล่า ที่พูดนี่ไม่ได้หมายความว่าหนังสือที่อ่านๆ อยู่ทุกวันนี้ไม่ดีนะครับ แต่ถ้าจะให้พูดถึงหนังสือที่รู้สึกชอบละก็ เออ...อันนี้ต้องคุยกันยาวล่ะ หนังสือที่ผมชอบ...ผมว่ายังไงมันก็ต้องเกี่ยวพันกับคนแต่งหรือตัวนักเขียนแน่ๆ ฟันธงเลยครับ ถ้านักเขียนไทยสุดยอดในดวงใจของผมก็คือ คุณ'รงค์ วงษ์สวรรค์ นั่นเอง จำได้ว่า คุณ'รงค์แกมีหนังสือออกมาประมาณร้อยกว่าปก (เรียกถูกหรือเปล่าเนี่ย) ผมอ่านไม่ครบทุกเล่มหรอกครับ ได้สักสามสิบสี่สิบเล่มกระมัง ที่จำได้ก็มี พูดกับบ้าน, เสเพลบอยชาวไร่, ปีนตลิ่ง, ดอกไม้ในถังขยะ, บางลำพูสแคว์, ลมบาดหิน, น้ำตาสองเม็ด, นักเลงโกเมน, สนิมสร้อย, ครูสีดา, โอ๊ย! จำไม่หวาดไม่ไหวหรอกครับ

พูดถึงหนังสือของคุณ'รงค์นี่ อธิบายไม่ถูกหรอกว่าชอบยังไง ผมรู้สึกเหมือนมันเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่ง เหมือนมันมีแรงดึงดูดเราให้เข้าไปหา มันมีอำนาจควบคุมเรา ได้เสพแล้วก็ต้องเสพอย่างต่อเนื่อง ผมว่าการได้อ่านหนังสือของคุณ'รงค์นี่มันน่าจะเหมือนคนชอบกินเหล้าได้กินเหล้า,คนชอบฟุตบอลได้เล่าหรือเชียร์บอล,คนชอบเข้าอาบอบนวดได้เข้าไปเลียบๆ เคียงๆ แถวหน้ากระจก (เปรียบเทียบแย่ไปมั้ยเนี่ย)น่าจะประมาณนั้นนะครับ
----------------
ได้เสพแล้วไม่อาจถอนตัวได้ ที่หนักกว่านั้นก็คือ ไม่มีความคิดจะเลิกราซะด้วยสิแต่มันจะแย่หน่อยก็ตรงที่...ขอพูดอะไรที่มันไม่เข้าท่าหน่อยนะครับ คือ เราก็รู้ๆ กันอยู่ว่าสุขภาพของคุณ'รงค์ ไม่ค่อยดี พูดก็พูดเถอะ เกิดคุณ'รงค์ แกเป็นอะไรไปนี่ใจหายนะครับ (ขอโทษเป็นอย่างสูงนะครับคุณ'รงค์ ผมเพียงแต่พูดในสิ่งที่ผมคิดอยู่น่ะครับ)
-------------
ถัดจากคุณ'รงค์ก็เป็น คุณ ลาว คำหอม
----------------
และนอกจากจะชอบหนังสือของแกแล้ว ผมยังชอบที่แกเป็นคนอีสานเหมียนผมเลยครับ (ท้องถิ่นนิยมมากไปรึเปล่าเอ่ย บ้านผมอยู่มหาสารคามครับ) ผมชอบ “ฟ้าบ่กั้น” ของคุณลาวมาก ในหนังสือฟ้าบ่กั้นนี่ ตรวคำนำจะมีกลอนอยู่บทหนึ่งซึ่งหากใครเป็นคนอีสานที่โบราณๆ หน่อยได้อ่านจะต้องซาบซึ้งแทบน้ำตาไหลเลยทีเดียวล่ะ กลอนบทนั้นคือ “คิดฮอดบ้านบุญผะเหวดคือสิหลาย คือ สิมีกันหลอนแห่งันลำฟ้อน ทศพอนกันต้นมหาพนใกล้สิเที่ยง เสียงมะลึกคึกคื้นอย่าลืมอ้ายผู้อยู่ไกล” (เด้อหล่าเด้อ)
--------------
คุณ'ปราย คิดเบิ่งกะแล้วกัน ข้อยผู้นั่งอยู่หนี่กะเกือบสิน้ำตาย้อยแล้วเด้อ
---------------
ผมนั่งอ่าน “เขียดขาคำ” อยู่บนถียงนาที่กลางทุ่งพร้อมกับมองเห็นภาพไปด้วย นั่นนายนาคนางามกำลังเดินฝ่าเปลวแดดกลับมาจากอำเภอ “โอ๊ย! เกิบคือบ่ใส่ บ่ฮ้อนตีนบ่น้ออ้าย” ผมเกือบร้องทัก ลูกสะแบงหลุดจากกิ่งแล้วหมุนติ้วตามแรงลมพัด (ลูกสะแบงนี่จะกลมๆ ขนาดโตกว่านิ้วโป้งมือสักเล็กน้อย มีปีกโค้งสองปีกติดอยู่) ตอนเป็นเด็กผมชอบวิ่งไปรับก่อนที่มันจะหล่นถึงพื้นดิน และหนองน้ำที่แห้งขอดจนดินแตกเขิบ (แตกระแหง) เอาบักเสียมเฮี่ยม (เสียมที่ใช้งานนานจนใบมันสั้น) ไปแซะตามร่องเพื่อหาเขียดอีโม้ เขียดขาคำ และนั่นงูเห่า-เอาไปผัดเผ็ดโลด
-------------
ผมอยู่กับสภาพแบบนี้มาตั้งแต่ “หัวท่อบักแข้ง” (หัว-ศีรษะเท่าลูกมะแว้ง) จนทุกวันนี้ “หัวท่อ-ม่อหนึ่ง” (หัว-ศีรษะเท่าหม้อนึ่งข้าวเหนียว) ผมว่าภาพทุกภาพมันฝังอยู่ใน DNA ของผมแล้วล่ะ ไม่เชื่อละก็ให้คุณหญิงพรทิพย์มาพิสูจน์ได้เลย รับรองคุณหมอไม่ท้อแน่ๆ เพราะหัวผมคนเดียวเอง (ฮา)
-------------
ปัจจุบันผมต้องเข้ามาทำมาหากินอยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนหนังสือหนังหาที่ซื้อเอาไว้ก็ยังอยู่ที่เถียงนาที่บ้านนอกโน่นแน่ะ พี่สาวผมแกไปเลี้ยงวัวอยู่ที่ทุ่งนาทุกวันก็ช่วยดูแลหนังสือให้ผมอยู่ ไม่รู้แกได้เกี่ยวหญ้าให้หนังสือผมกินมั่งหรือเปล่านะ...เฮ้อ อดทนรอพ่อกลับไปเยี่ยมนะลูก (ผมขนกลับไปตอนเรียนจบใหม่ๆ น่ะครับ) กะว่าผมมีที่อยู่ในกรุงเทพฯ ชัวร์ๆ ก่อนแล้วก็จะไปขนมาอยู่ด้วย นึกๆ ดูก็น่าสงสารหนังสือเหล่านั้นนะครับ เกิดอยู่กรุงเทพฯ แท้ๆ กลิ่นเจ๊กยังไม่จางหายก็ต้องอพยพไปอยู่บ้านนอก ส่วนผมสิเกิดอยู่กลางทุ่งนากลิ่นปลาร้ายังโชยหึ่ง ดั๊นได้มาอยู่กรุงเทพฯ ซะนี่ โบกนี้มันไม่สมประกอบจริงๆ ว่ะ
---------------
ว่าไปแล้วผมว่าหนังสือที่เราอ่านๆ กันอยู่นี่ก็คือหนังสือที่เราต้องอ่านก่อนตายทั้งนั้นแหละครับ เพราะว่าเราได้อ่านมันในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ไงครับ ส่วนหลังจากที่เราตายไปแล้วนี่จะได้อ่านอะไรหรือไม่นั้น ไม่มีใครรับรองได้หรอกครับ (ผมว่าโดยสภาพความเป็นจริงแล้วคนตายน่าจะอ่านหนังสือลำบากนะครับ เพราะจะถูกจับนอนหงายและมีเงินเหรียญอุดปากอยู่น่ะ จะอ้าปากอ่านหนังสือก็กลัวเงินมันจะร่วงลงไปติดคอเดี๋ยวก็ได้ตายรอบสองกันหรอก จะอ่านในใจก็ไม่ค่อยมัน หรือคุณ ปรายว่าไงครับ จะตอบว่าไม่รู้เพราะไม่เคยตายก็ได้นะครับผมไม่โกรธหรอก เพราะผมเองก็ไม่เคยตายเหมือนกันครับ)
-----------------
ส่วนหนังสือต่างประเทศ (บ้านผมเรียกประเทศนอก) ผมก็ชอบของคุณ สตีเฟ่น คิง-ครับ ผมชอบโดโรเลส ไครบอนมาก อ่านซ้ำอ่านซากอยู่หลายเที่ยวแล้ว ผมว่าปลวกที่อยู่เถียงนาผมก็น่าจะชอบเหมือนกันนะ เพราะเห็นมันแทะขอบแหว่งไปเยอะเลย ผมชอบตอนมีสไครบอนแกใช้เทคนิคในการตอบคำถามของนักสืบ...หนึ่งจังหว่ะม้าย่อง สองจังหว่ะม้าย่อง แหม...อ่านแล้วนึกเห็นภาพเลยนะครับ เอ่อ...ไม่ใช่ภาพม้าเดินนะครับ แต่เป็นภาพของคนเหลี่ยมจัดสองคนกำลังฟัดเขี้ยวฟัดงากันน่ะ อ้ายสตีเฟ่น คิงนี่แกแน่จริงๆ ครับ พูดมาแล้วอยากเป็นกิ๊กกับสมองของแกจัง (ผมประยุกต์มาจากคำพูดของเพื่อนเฮียนิโคลัส เคจ ในหนังเรื่องล่าขุมทรัพย์อะไรนั่นน่ะครับ)
------------
หนังสือที่ผมได้อ่านในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ และหนังสือเหล่านั้นก็นอนแอ้งแม้งอยู่ที่เถียงนาน้อยคอยนางของผมก็มีประมาณนี้ล่ะครับ เอ่อ...ของคุณ'ปรายก็มีนะครับ อ้าวก็อยู่ในมติชนนั่นงั๊ย...
--------------

เรื่องจาก : คุณบุญอุ้ม อุทัยประดิษฐ์
ประชาสงเคราะห์ ดินแดง กรุงเทพฯ 10400
ภาพจาก : www.tuneingarden.com
All Rights Reserved.
2006 Copyright©'prypansang

ไม่อ่านได้ไหมพี่


Reading Machine
ไม่อ่านได้มั้ยพี่ ?
สงครามดวงตากับหน้ากระดาษ
-------------------
“ผมชอบอ่านหนังสือนะพี่ แต่ไม่ค่อยมีสตางค์ซื้อ”
“ตอนเรียนหนังสือ พี่ไม่ค่อยมีสตางค์ซื้อเหมือนกัน ก็อาศัยยืมห้องสมุดบ้าง ยืมเพื่อนบ้าง”
“แต่หนังสือที่เราอยากอ่าน บางทีห้องสมุดก็ไม่มี เพื่อนก็ไม่มีนะพี่”
“งั้นก็ยากหน่อย ไม่ลองหาวิธีดูหน่อยล่ะ พี่ว่าน่าจะมีทางนะ เช่นไปยืนอ่านในร้านวันละห้าหน้า หนังสือมีสองร้อยหน้า อ่านสักเดือนเศษๆ ก็จบเล่มแล้ว ถ้าเราอยากอ่านจริงๆ มันต้องมีวิธีจนได้ เราต้องหาโอกาสให้ตัวเองล่ะ”
“หนังสือในบ้านเราน่าจะมีราคาถูกกว่านี้นะพี่ น่าจะเห็นใจคนที่ไม่มีรายได้เป็นของตัวเองบ้าง”
“เท่าที่รู้ คนทำเขาก็อยากให้ราคาถูกเหมือนกันนะ เพราะหนังสือแพงมันก็ขายยาก”
………….
“พี่มีลูกสองคนค่ะ ไม่ชอบอ่านหนังสือทั้งสองคนเลย ทำอย่างไรจึงจะทำให้เขาหันมาสนใจอ่านบ้าง พอจะมีคำแนะนำบ้างไหมคะ”
“เขาโตหรือยังคะ”
“คนหนึ่งอยู่ม.1 อีกคนอยู่ม.5 ค่ะ”
“เขาได้เลือกหนังสืออ่านเองหรือเปล่าคะ”
“เอ่อ …พี่ก็ดูๆ ให้น่ะค่ะ ว่าเขาน่าจะอ่านอะไร ไม่ปล่อยทั้งหมด เพราะถ้าให้เลือกอ่านเองนี่ ก็อ่านแต่การ์ตูนอย่างเดียว”
“อ๋อ อ่านการ์ตูนบ้างก็ดีแล้วค่ะ การ์ตูนเดี๋ยวนี้ทันสมัยนะคะ บางเล่มมีเนื้อหาดีกว่าวรรณกรรมแท้ๆ ด้วยซ้ำ หนูยังลุ้นอยู่นะคะ ว่าเมื่อไหร่จะมีรางวัลโนเบลให้คนเขียนการ์ตูนบ้าง”
“แต่แหม พี่เป็นครูภาษาไทย ก็อยากให้ลูกรู้จักอ่านหนังสือดีๆ บ้างน่ะค่ะ”
“พี่อยากให้เขาอ่านอะไรบ้างคะ ไหนลองบอกชื่อหนังสือหน่อยสิคะ”
“ก็หนังสืออย่าง …..(รายชื่อหนังสือ)….”
“อ๋อ หนังสือพวกนี้วัยรุ่นอ่านไม่ค่อยสนุกหรอกค่ะ เรื่องปกติ พี่อย่ากังวลมากเลยค่ะ ถ้าเขาโตกว่านี้ เขาอาจจะรู้จักเลือกหนังสือดีๆ หรืออาจจะอยากอ่านมากขึ้นก็ได้ค่ะ มีเพื่อนคนหนึ่ง เมื่อก่อนไม่ชอบอ่านหนังสือเลยเหมือนกัน แต่เดี๋ยวนี้อ่านทุกอย่างเลยค่ะ อ่านมากกว่าหนูอีก”
“กลัวลูกพี่จะไม่เป็นเหมือนเพื่อนหนูนะสิคะ”
“เอ ไม่ทราบเหมือนกันค่ะ ว่าต้องทำอย่างไร เพราะจริงๆ แล้วที่ตัวเองชอบอ่านหนังสืออยู่บ้างนี่ก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นเพราะอะไรกันแน่ ที่บ้านมีน้องชายคนหนึ่งค่ะ โตมาในครอบครัวเดียวกันแท้ๆ แต่เขาก็ไม่ชอบอ่านหนังสือเลยค่ะ”
“อ้าว หรือคะ แล้วทำอย่างไรล่ะคะ”
“ไม่ได้อะไรหรอกค่ะ ก็ปล่อยเขา เขาทำกับข้าวเก่งค่ะ”
“ทำไมหรือคะ เป็นการชดเชยที่ไม่อ่านหนังสือหรือไงคะ”
“อาจจะอย่างนั้นก็ได้ค่ะ ธรรมชาติเขาชดเชยให้ การทำกับข้าวเนี่ยมันก็ต้องอาศัยความรู้และฝีมือมากเหมือนกันนะคะ เขาไม่อ่านความหมายชีวิตจากหนังสือ แต่อาจจะอ่านเอาจากกระดูกหมู อ่านจากเนื้อปลา จากขิงข่า จากพริกขี้หนู หรืออ่านจากต้นตะไคร้ก็ได้ คนเรามีวิธีเรียนรู้ชีวิตได้ต่างๆ กันได้นะคะพี่”
“ก็ยังดีนะคะ น้องชายหนูยังทำกับข้าวได้ แต่ลูกพี่เอาแต่เล่นเกมอย่างเดียวนี่สิคะ ทำไงดี”

“อ๋อ เล่นเกมก็โอเคค่ะ ลองกำหนดเวลาให้เล่นสิคะ เห็นพ่อแม่หลายท่านใช้ได้ผลนะคะ บางทีที่เขาเล่นเกมเนี่ย อาจจะดีกว่าก็ได้นะคะ เพราะถ้าเขาหันมาเข้าครัวทำกับข้าวแบบน้องชายหนู พี่อาจจะกังวลว่าเขาจะเป็นตุ๊ดอีกก็ได้ค่ะ”
“ (หัวเราะ) นั่นสิคะ”
……………..

“หนูอยากอ่านหนังสือดีๆ ค่ะพี่ แต่ไม่รู้จะอ่านอะไร”
“ น้องอ่าน แฮร์รี่ พอตเตอร์ หรือยังคะ”
“ ยังไม่ได้อ่านเลยค่ะ”
“ บริดเจ็ท โจนส์ ไดอารี่ล่ะ มีตั้งสองเล่มนะ”
“ ยังไม่ได้อ่านเหมือนกันค่ะ เอ่อ พี่คะ เราไม่อ่านหนังสือพวกนี้ได้ไหมพี่”
“ ทำไมล่ะ”
“ ไม่รู้สิพี่”

-------------------------------
“ หนังสือมันไม่ได้มีพิษภัยอะไร ทำไมเราต้องไปตั้งป้อมแอนตี้มันด้วยล่ะ”
“ ไม่รู้นะพี่ หนูว่าหนังสือมันดังจนรู้สึกเหมือนมีมือที่มองไม่เห็นมาบีบคอบังคับให้อ่านน่ะ”
“ ชอบที่น้องเปรียบเทียบนะ แต่ไม่คิดหรือว่า ที่หนังสือมันโด่งดังได้ขนาดนี้ อาจเป็นเพราะว่าหนังสือมันสนุกได้มาตรฐานระดับหนึ่ง มันถึงจับใจคนได้ในวงกว้างขนาดนี้”
“รู้นะพี่ หนูรู้ เชื่อด้วยว่ามันสนุก แต่ก็ไม่อยากอ่านน่ะ”
“เออแน่ะ ไม่อยากอ่านก็ไม่ต้องอ่าน ไม่เห็นจะเป็นไร หนังสือโลกนี้มีให้เลือกอ่านได้ตั้งเยอะแยะ ไม่อ่านเล่มนี้ เราอ่านเล่มอื่นก็ได้”


“นั่นสิพี่ อยากอ่านเล่มอื่น แต่ไม่รู้จะอ่านอะไร”
“ไม่มีอะไรอ่าน ก็ไม่ต้องอ่าน”
“อ้าว แล้วกัน ทำไมพี่พูดอย่างนั้นล่ะคะ ใครๆ เขาก็ว่าอ่านหนังสือแล้วจะดีนี่คะ พี่เป็นนักเขียนแท้ๆ พูดอย่างนี้ได้อย่างไร ถ้ามีคนแบบหนูเยอะๆ หนังสือพี่ก็ขายไม่ออกพอดี ”
“พี่ไม่ได้อยากให้คนอ่านหนังสือเพราะตัวเองเป็นคนเขียนหนังสือขายนะ”
“พี่ชอบแฮร์รี่ พอตเตอร์ ไหมคะ”
“ก็น่าสนใจดี แต่พี่ยังไม่ได้อ่านหนังสือนะ”
“พี่ไม่อ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์” (พูดเสียงดัง ตาโต)
“ไม่ใช่”ไม่อ่าน”ค่ะ แต่ “ยังไม่ได้อ่าน” หมายถึงว่าอาจจะอ่านเร็วๆ นี้”
“แต่ดูหนังแล้วใช่ไหมคะ”
“ไม่ได้ดูค่ะ”
“ทำไมคะพี่”
“ไม่อยากดู แต่อยากอ่านหนังสือนะ พี่ซื้อมาเก็บไว้ทุกเล่มล่ะ ตั้งใจจะอ่านเหมือนกัน แต่พอดีมันมีหนังสือที่พี่ต้องอ่านก่อนหลายเล่ม เลยไม่ได้อ่านสักที”
“แล้วบริดเจ็ท โจนส์ ไดอารี่ ล่ะคะ อ่านหรือยัง”
“อ่านแล้วค่ะ สนุกดี น้องอ่านสิ น่าจะชอบนะ”
“ขอคิดดูก่อนนะพี่ เพื่อนหนูอ่านกันทุกคนล่ะค่ะ มีหนูนี่แหละที่ไม่อ่าน”
“ตกลงมีปัญหาอะไรกันแน่ ไม่อยากอ่านเหมือนเพื่อน หรือไม่ชอบอ่านหนังสือกันแน่”
“นั่นสิคะ (หัวเราะ) หนูรู้นะพี่ ว่าการอ่านหนังสือเป็นสิ่งที่ดี”
“ขึ้นอยู่กับการรู้จักเลือกหนังสือดีๆ มาอ่านด้วยเหมือนกัน เพราะหนังสือไม่ได้ดีทุกเล่มหรอก เราต้องเลือก ซึ่งเมื่ออ่านไปเยอะๆ แล้วเราก็จะรู้จักเลือก รู้จักแยกแยะได้เองแหละ”
“ทำไมคนเราต้องอ่านหนังสือด้วยคะพี่”
“โลกเรามีหนังสือให้อ่าน ก็ควรอ่านนะ น่าจะดีกว่าทิ้งให้ปลวกกิน”
“เราไม่อ่านได้มั้ยพี่””
…………..

From : “pry”
----------------
สวัสดีค่ะน้อง ขอโทษด้วยที่ตอบช้า มันช้าเพราะมัวแต่คิดอยู่นาน ว่า “เราไม่อ่านหนังสือได้หรือเปล่า” คำตอบคือน่าจะได้สำหรับบางคน แต่บางคนคงไม่ได้ อาจจะเป็นคำตอบแบบกำปั้นทุบดินไปหน่อย แต่น่าจะเป็นจริงและเป็นอยู่ ตอนนี้ พี่ไม่มีคำตอบที่ดีกว่านี้ พี่ส่งภาพวาดมาให้ด้วยค่ะ เผื่อจะสนใจ นี่เป็นภาพ Reading Machine หรือ “เครื่องอ่านหนังสือ” จากหนังสือ Le diverse et artificiose machine (Paris, 1588) ของ อกอสติโน ราเมลลี่ วิศวกรชาวอิตาเลี่ยน เขาออกแบบขึ้นมาใช้ในราชสำนักฝรั่งเศส และมีผู้นำไปดัดแปลงทำใช้กันอย่างแพร่หลายจนทุกวันนี้
พี่ชอบเจ้าเครื่องนี้จัง ยังไม่เคยเห็นของจริงสักที แต่แอบเก็บรูปไว้ เพราะเคยคิดอยากจะทำไว้ใช้สักเครื่องเหมือนกัน แต่คงต้องขอปรับแบบนิดหน่อย เช่นเก้าอี้นั่งอาจจะทำให้ปรับนอนได้ แล้วก็มีโต๊ะพับสำหรับวางของกินหรือเครื่องดื่มได้เป็นอาทิ ได้คุยกับน้องวันนั้นแล้ว ก็คิดถึงรูปนี้ขึ้นมาได้ วันนี้พี่สงสัยว่า สำหรับน้อง หรือคนที่ไม่ชอบหนังสือ หรือไม่อ่านหนังสือ เมื่อได้เห็นเจ้าเครื่องมือนี้แล้วจะรู้สึกอย่างไร จะแปลกใจบ้างหรือเปล่าว่า ทำไมคนเราต้องอยากอ่านหนังสือพร้อมกันหลายเล่มขนาดนี้แล้วในหน้าหนังสือมันมีดีอะไร ทำไมวิศวกรอิตาเลี่ยนคนนี้ถึงกับต้องลงทุนประดิษฐ์เครื่องมือใหญ่โตขนาดนี้ขึ้นมาเพื่อช่วย “อ่าน” หนังสือโดยเฉพาะ ต้องขอโทษน้องด้วย ถ้าช่วยเหลืออะไรไม่ได้เลย
……………
-------------------------
To : “P'pry”

สวัสดีค่ะพี่’ปราย ขอบคุณพี่มากที่ไม่ลืมคำถามของน้อง ที่คุยกับพี่วันนั้น น้องก็กลับมาคิดว่า น้องไม่ควรกังวลใช่ไหมพี่ ถ้าเราต้องอ่านหนังสือ เพราะแค่รู้สึกว่าการอ่านหนังสือเป็นสิ่งที่ดี มันคงเป็นการอ่านที่ทรมานมากเลย ที่น้องมีปัญหากับการอ่านอยู่ตอนนี้ อาจเป็นเพราะว่าน้องยังไม่เจอหนังสือที่ถูกใจเท่านั้นเอง คงเป็นอย่างที่พี่บอกนั่นแหละ ว่ามันต้องใช้เวลา ตอนนี้ก็พยายามทำตามคำแนะนำของพี่ค่ะ น้องคงต้องทำใจให้กว้างกว่านี้ เพื่อให้โอกาสหนังสือประเภทต่างๆ เข้ามาในชีวิตเราให้มากที่สุด เห็นด้วยกับพี่ค่ะว่า ถ้าเรามีตัวเลือกน้อย โอกาสที่จะพบหนังสือที่เราชอบก็มีน้อยต้องขอบคุณพี่อีกครั้งที่เสียเวลาคุยเรื่องไร้สาระกับน้องขอให้พี่รักษาสุขภาพนะคะ
---------------
ปล. น้องชอบ Reading Machine ของพี่มากค่ะ ถ้าพี่อยากทำไว้ใช้ที่บ้านจริงๆ น้องว่าตรงเก้าอี้นั่ง พี่น่าจะทำเป็นชักโครกไปเลยนะคะ

--------------------------
-------------
Reading Machine
ไม่อ่านได้ไหมพี่? สงครามดวงตากับหน้ากระดาษ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์'ปราย พันแสง
นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์
ฉบับ 1118 วันที่ 21 มกราคม 2002
ภาพ www.pitt.edu
All Rights Reserved.
2006 Copyright©'prypansang