ไม่อ่านได้ไหมพี่


Reading Machine
ไม่อ่านได้มั้ยพี่ ?
สงครามดวงตากับหน้ากระดาษ
-------------------
“ผมชอบอ่านหนังสือนะพี่ แต่ไม่ค่อยมีสตางค์ซื้อ”
“ตอนเรียนหนังสือ พี่ไม่ค่อยมีสตางค์ซื้อเหมือนกัน ก็อาศัยยืมห้องสมุดบ้าง ยืมเพื่อนบ้าง”
“แต่หนังสือที่เราอยากอ่าน บางทีห้องสมุดก็ไม่มี เพื่อนก็ไม่มีนะพี่”
“งั้นก็ยากหน่อย ไม่ลองหาวิธีดูหน่อยล่ะ พี่ว่าน่าจะมีทางนะ เช่นไปยืนอ่านในร้านวันละห้าหน้า หนังสือมีสองร้อยหน้า อ่านสักเดือนเศษๆ ก็จบเล่มแล้ว ถ้าเราอยากอ่านจริงๆ มันต้องมีวิธีจนได้ เราต้องหาโอกาสให้ตัวเองล่ะ”
“หนังสือในบ้านเราน่าจะมีราคาถูกกว่านี้นะพี่ น่าจะเห็นใจคนที่ไม่มีรายได้เป็นของตัวเองบ้าง”
“เท่าที่รู้ คนทำเขาก็อยากให้ราคาถูกเหมือนกันนะ เพราะหนังสือแพงมันก็ขายยาก”
………….
“พี่มีลูกสองคนค่ะ ไม่ชอบอ่านหนังสือทั้งสองคนเลย ทำอย่างไรจึงจะทำให้เขาหันมาสนใจอ่านบ้าง พอจะมีคำแนะนำบ้างไหมคะ”
“เขาโตหรือยังคะ”
“คนหนึ่งอยู่ม.1 อีกคนอยู่ม.5 ค่ะ”
“เขาได้เลือกหนังสืออ่านเองหรือเปล่าคะ”
“เอ่อ …พี่ก็ดูๆ ให้น่ะค่ะ ว่าเขาน่าจะอ่านอะไร ไม่ปล่อยทั้งหมด เพราะถ้าให้เลือกอ่านเองนี่ ก็อ่านแต่การ์ตูนอย่างเดียว”
“อ๋อ อ่านการ์ตูนบ้างก็ดีแล้วค่ะ การ์ตูนเดี๋ยวนี้ทันสมัยนะคะ บางเล่มมีเนื้อหาดีกว่าวรรณกรรมแท้ๆ ด้วยซ้ำ หนูยังลุ้นอยู่นะคะ ว่าเมื่อไหร่จะมีรางวัลโนเบลให้คนเขียนการ์ตูนบ้าง”
“แต่แหม พี่เป็นครูภาษาไทย ก็อยากให้ลูกรู้จักอ่านหนังสือดีๆ บ้างน่ะค่ะ”
“พี่อยากให้เขาอ่านอะไรบ้างคะ ไหนลองบอกชื่อหนังสือหน่อยสิคะ”
“ก็หนังสืออย่าง …..(รายชื่อหนังสือ)….”
“อ๋อ หนังสือพวกนี้วัยรุ่นอ่านไม่ค่อยสนุกหรอกค่ะ เรื่องปกติ พี่อย่ากังวลมากเลยค่ะ ถ้าเขาโตกว่านี้ เขาอาจจะรู้จักเลือกหนังสือดีๆ หรืออาจจะอยากอ่านมากขึ้นก็ได้ค่ะ มีเพื่อนคนหนึ่ง เมื่อก่อนไม่ชอบอ่านหนังสือเลยเหมือนกัน แต่เดี๋ยวนี้อ่านทุกอย่างเลยค่ะ อ่านมากกว่าหนูอีก”
“กลัวลูกพี่จะไม่เป็นเหมือนเพื่อนหนูนะสิคะ”
“เอ ไม่ทราบเหมือนกันค่ะ ว่าต้องทำอย่างไร เพราะจริงๆ แล้วที่ตัวเองชอบอ่านหนังสืออยู่บ้างนี่ก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นเพราะอะไรกันแน่ ที่บ้านมีน้องชายคนหนึ่งค่ะ โตมาในครอบครัวเดียวกันแท้ๆ แต่เขาก็ไม่ชอบอ่านหนังสือเลยค่ะ”
“อ้าว หรือคะ แล้วทำอย่างไรล่ะคะ”
“ไม่ได้อะไรหรอกค่ะ ก็ปล่อยเขา เขาทำกับข้าวเก่งค่ะ”
“ทำไมหรือคะ เป็นการชดเชยที่ไม่อ่านหนังสือหรือไงคะ”
“อาจจะอย่างนั้นก็ได้ค่ะ ธรรมชาติเขาชดเชยให้ การทำกับข้าวเนี่ยมันก็ต้องอาศัยความรู้และฝีมือมากเหมือนกันนะคะ เขาไม่อ่านความหมายชีวิตจากหนังสือ แต่อาจจะอ่านเอาจากกระดูกหมู อ่านจากเนื้อปลา จากขิงข่า จากพริกขี้หนู หรืออ่านจากต้นตะไคร้ก็ได้ คนเรามีวิธีเรียนรู้ชีวิตได้ต่างๆ กันได้นะคะพี่”
“ก็ยังดีนะคะ น้องชายหนูยังทำกับข้าวได้ แต่ลูกพี่เอาแต่เล่นเกมอย่างเดียวนี่สิคะ ทำไงดี”

“อ๋อ เล่นเกมก็โอเคค่ะ ลองกำหนดเวลาให้เล่นสิคะ เห็นพ่อแม่หลายท่านใช้ได้ผลนะคะ บางทีที่เขาเล่นเกมเนี่ย อาจจะดีกว่าก็ได้นะคะ เพราะถ้าเขาหันมาเข้าครัวทำกับข้าวแบบน้องชายหนู พี่อาจจะกังวลว่าเขาจะเป็นตุ๊ดอีกก็ได้ค่ะ”
“ (หัวเราะ) นั่นสิคะ”
……………..

“หนูอยากอ่านหนังสือดีๆ ค่ะพี่ แต่ไม่รู้จะอ่านอะไร”
“ น้องอ่าน แฮร์รี่ พอตเตอร์ หรือยังคะ”
“ ยังไม่ได้อ่านเลยค่ะ”
“ บริดเจ็ท โจนส์ ไดอารี่ล่ะ มีตั้งสองเล่มนะ”
“ ยังไม่ได้อ่านเหมือนกันค่ะ เอ่อ พี่คะ เราไม่อ่านหนังสือพวกนี้ได้ไหมพี่”
“ ทำไมล่ะ”
“ ไม่รู้สิพี่”

-------------------------------
“ หนังสือมันไม่ได้มีพิษภัยอะไร ทำไมเราต้องไปตั้งป้อมแอนตี้มันด้วยล่ะ”
“ ไม่รู้นะพี่ หนูว่าหนังสือมันดังจนรู้สึกเหมือนมีมือที่มองไม่เห็นมาบีบคอบังคับให้อ่านน่ะ”
“ ชอบที่น้องเปรียบเทียบนะ แต่ไม่คิดหรือว่า ที่หนังสือมันโด่งดังได้ขนาดนี้ อาจเป็นเพราะว่าหนังสือมันสนุกได้มาตรฐานระดับหนึ่ง มันถึงจับใจคนได้ในวงกว้างขนาดนี้”
“รู้นะพี่ หนูรู้ เชื่อด้วยว่ามันสนุก แต่ก็ไม่อยากอ่านน่ะ”
“เออแน่ะ ไม่อยากอ่านก็ไม่ต้องอ่าน ไม่เห็นจะเป็นไร หนังสือโลกนี้มีให้เลือกอ่านได้ตั้งเยอะแยะ ไม่อ่านเล่มนี้ เราอ่านเล่มอื่นก็ได้”


“นั่นสิพี่ อยากอ่านเล่มอื่น แต่ไม่รู้จะอ่านอะไร”
“ไม่มีอะไรอ่าน ก็ไม่ต้องอ่าน”
“อ้าว แล้วกัน ทำไมพี่พูดอย่างนั้นล่ะคะ ใครๆ เขาก็ว่าอ่านหนังสือแล้วจะดีนี่คะ พี่เป็นนักเขียนแท้ๆ พูดอย่างนี้ได้อย่างไร ถ้ามีคนแบบหนูเยอะๆ หนังสือพี่ก็ขายไม่ออกพอดี ”
“พี่ไม่ได้อยากให้คนอ่านหนังสือเพราะตัวเองเป็นคนเขียนหนังสือขายนะ”
“พี่ชอบแฮร์รี่ พอตเตอร์ ไหมคะ”
“ก็น่าสนใจดี แต่พี่ยังไม่ได้อ่านหนังสือนะ”
“พี่ไม่อ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์” (พูดเสียงดัง ตาโต)
“ไม่ใช่”ไม่อ่าน”ค่ะ แต่ “ยังไม่ได้อ่าน” หมายถึงว่าอาจจะอ่านเร็วๆ นี้”
“แต่ดูหนังแล้วใช่ไหมคะ”
“ไม่ได้ดูค่ะ”
“ทำไมคะพี่”
“ไม่อยากดู แต่อยากอ่านหนังสือนะ พี่ซื้อมาเก็บไว้ทุกเล่มล่ะ ตั้งใจจะอ่านเหมือนกัน แต่พอดีมันมีหนังสือที่พี่ต้องอ่านก่อนหลายเล่ม เลยไม่ได้อ่านสักที”
“แล้วบริดเจ็ท โจนส์ ไดอารี่ ล่ะคะ อ่านหรือยัง”
“อ่านแล้วค่ะ สนุกดี น้องอ่านสิ น่าจะชอบนะ”
“ขอคิดดูก่อนนะพี่ เพื่อนหนูอ่านกันทุกคนล่ะค่ะ มีหนูนี่แหละที่ไม่อ่าน”
“ตกลงมีปัญหาอะไรกันแน่ ไม่อยากอ่านเหมือนเพื่อน หรือไม่ชอบอ่านหนังสือกันแน่”
“นั่นสิคะ (หัวเราะ) หนูรู้นะพี่ ว่าการอ่านหนังสือเป็นสิ่งที่ดี”
“ขึ้นอยู่กับการรู้จักเลือกหนังสือดีๆ มาอ่านด้วยเหมือนกัน เพราะหนังสือไม่ได้ดีทุกเล่มหรอก เราต้องเลือก ซึ่งเมื่ออ่านไปเยอะๆ แล้วเราก็จะรู้จักเลือก รู้จักแยกแยะได้เองแหละ”
“ทำไมคนเราต้องอ่านหนังสือด้วยคะพี่”
“โลกเรามีหนังสือให้อ่าน ก็ควรอ่านนะ น่าจะดีกว่าทิ้งให้ปลวกกิน”
“เราไม่อ่านได้มั้ยพี่””
…………..

From : “pry”
----------------
สวัสดีค่ะน้อง ขอโทษด้วยที่ตอบช้า มันช้าเพราะมัวแต่คิดอยู่นาน ว่า “เราไม่อ่านหนังสือได้หรือเปล่า” คำตอบคือน่าจะได้สำหรับบางคน แต่บางคนคงไม่ได้ อาจจะเป็นคำตอบแบบกำปั้นทุบดินไปหน่อย แต่น่าจะเป็นจริงและเป็นอยู่ ตอนนี้ พี่ไม่มีคำตอบที่ดีกว่านี้ พี่ส่งภาพวาดมาให้ด้วยค่ะ เผื่อจะสนใจ นี่เป็นภาพ Reading Machine หรือ “เครื่องอ่านหนังสือ” จากหนังสือ Le diverse et artificiose machine (Paris, 1588) ของ อกอสติโน ราเมลลี่ วิศวกรชาวอิตาเลี่ยน เขาออกแบบขึ้นมาใช้ในราชสำนักฝรั่งเศส และมีผู้นำไปดัดแปลงทำใช้กันอย่างแพร่หลายจนทุกวันนี้
พี่ชอบเจ้าเครื่องนี้จัง ยังไม่เคยเห็นของจริงสักที แต่แอบเก็บรูปไว้ เพราะเคยคิดอยากจะทำไว้ใช้สักเครื่องเหมือนกัน แต่คงต้องขอปรับแบบนิดหน่อย เช่นเก้าอี้นั่งอาจจะทำให้ปรับนอนได้ แล้วก็มีโต๊ะพับสำหรับวางของกินหรือเครื่องดื่มได้เป็นอาทิ ได้คุยกับน้องวันนั้นแล้ว ก็คิดถึงรูปนี้ขึ้นมาได้ วันนี้พี่สงสัยว่า สำหรับน้อง หรือคนที่ไม่ชอบหนังสือ หรือไม่อ่านหนังสือ เมื่อได้เห็นเจ้าเครื่องมือนี้แล้วจะรู้สึกอย่างไร จะแปลกใจบ้างหรือเปล่าว่า ทำไมคนเราต้องอยากอ่านหนังสือพร้อมกันหลายเล่มขนาดนี้แล้วในหน้าหนังสือมันมีดีอะไร ทำไมวิศวกรอิตาเลี่ยนคนนี้ถึงกับต้องลงทุนประดิษฐ์เครื่องมือใหญ่โตขนาดนี้ขึ้นมาเพื่อช่วย “อ่าน” หนังสือโดยเฉพาะ ต้องขอโทษน้องด้วย ถ้าช่วยเหลืออะไรไม่ได้เลย
……………
-------------------------
To : “P'pry”

สวัสดีค่ะพี่’ปราย ขอบคุณพี่มากที่ไม่ลืมคำถามของน้อง ที่คุยกับพี่วันนั้น น้องก็กลับมาคิดว่า น้องไม่ควรกังวลใช่ไหมพี่ ถ้าเราต้องอ่านหนังสือ เพราะแค่รู้สึกว่าการอ่านหนังสือเป็นสิ่งที่ดี มันคงเป็นการอ่านที่ทรมานมากเลย ที่น้องมีปัญหากับการอ่านอยู่ตอนนี้ อาจเป็นเพราะว่าน้องยังไม่เจอหนังสือที่ถูกใจเท่านั้นเอง คงเป็นอย่างที่พี่บอกนั่นแหละ ว่ามันต้องใช้เวลา ตอนนี้ก็พยายามทำตามคำแนะนำของพี่ค่ะ น้องคงต้องทำใจให้กว้างกว่านี้ เพื่อให้โอกาสหนังสือประเภทต่างๆ เข้ามาในชีวิตเราให้มากที่สุด เห็นด้วยกับพี่ค่ะว่า ถ้าเรามีตัวเลือกน้อย โอกาสที่จะพบหนังสือที่เราชอบก็มีน้อยต้องขอบคุณพี่อีกครั้งที่เสียเวลาคุยเรื่องไร้สาระกับน้องขอให้พี่รักษาสุขภาพนะคะ
---------------
ปล. น้องชอบ Reading Machine ของพี่มากค่ะ ถ้าพี่อยากทำไว้ใช้ที่บ้านจริงๆ น้องว่าตรงเก้าอี้นั่ง พี่น่าจะทำเป็นชักโครกไปเลยนะคะ

--------------------------
-------------
Reading Machine
ไม่อ่านได้ไหมพี่? สงครามดวงตากับหน้ากระดาษ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์'ปราย พันแสง
นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์
ฉบับ 1118 วันที่ 21 มกราคม 2002
ภาพ www.pitt.edu
All Rights Reserved.
2006 Copyright©'prypansang