ไม่ได้อ่าน…มันอายเขา

ไม่ได้อ่าน…มันอายเขา
..........

’ปรายที่รัก ขอให้ฉันได้ร่วมรื้อชั้นหนังสือที่บ้านด้วยคน ฉันไม่อยากพลาดโอกาสเหมือนกอร์ดอน ฉันรื้อทั้งชั้นไม่ไหว แต่จะรื้อเฉพาะชั้นหนังสือหัวเตียงเท่านั้น เอาเฉพาะที่ทูนไว้เหนือหัว (เตียง) เพื่อที่ฉันจะเอื้อมมือหยิบอ่านได้สะดวก
....
สือเหล่านี้บ้างซื้อเพราะชอบ บ้างเพราะลอง บ้างผู้ใหญ่แนะนำให้อ่าน มีคนหนึ่งพูดกับฉันว่า "หนังสือบางเล่มถ้าไม่ได้อ่าน...ไม่ตายหรอก แต่อายเขา" ฉันว่า’ปรายคงทราบว่าคนนั้นคือใคร ?? ฉันใบ้ให้นิดหนึ่ง...หนังสือ 3 เล่มแรกต่อไปนี้คือ "ไม่ได้อ่าน...อายเขา"
..........
ลองทายและตอบฉันด้วยนะ
.............
1)100แห่งความโดดเดี่ยว (กาเบรียล การ์เซีย มาเควซ) : อ่านยากมาก ต้องจิตนาการไปด้วยตลอดเล่ม ชื่อตัวละครซ้ำกันเยอะ อ่านครั้งแรกรู้สึกเฉยๆ ไม่ค่อยสนุกชวนอ่านเท่าไหร่ แต่เชื่อไหม…ฉันอ่านจบหลายรอบเชียวนะ เป็นหนังสือที่ต้องเหน็บไปอ่านทุกครั้งที่ออกเที่ยวต่างจังหวัด
.......
2) แนวรบด้านตะวันตกเหตุการณ์ไม่เคยเปลี่ยน (มจ.ขจรจบกิตติคุณ กิติยากร ทรงแปล) : ฉันเห็นหนังฮอลลีวูดบางเรื่องเล่นมุขชื่อหนังสือ ฉันจำไม่ได้แล้วว่าหนังเรื่องอะไร ประมาณว่าพระเอกกับพวกกำลังปฎิบัติการณ์อะไรซักอย่างแล้วก็ถามพรรคพวกว่าทางนี้โอเค ทางโน้นเป็นไงบ้าง ? เจ้าคนนั้นก็ตอบว่า “All quiet of Western front” เก๋ไหม ?
......
3) เกิดวังปารุสก์ (พระองค์จุลฯ) : พาฉันสู่ประวัติศาสตร์ ฉันแตกแขนงไปอีกหลายเล่มหลายรัชกาล ฉันอ่านตั้งแต่เวอร์ชั่นปกอ่อนขาวดำ ล่าสุดออกรวมเล่มกระดาษอาร์ตอย่างดี น่าซื้อเก็บไว้ แต่แพงจังตั้ง 800 แน่ะ
..............
4) Revolution King : No comment !!! คนไทยควรอ่าน ควรรู้ว่าในหลวงทรงยิ้มร่าเริงครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ เกิดอะไรขึ้น
...........
5) ล่องไพร (มาลัย ชูพินิจ) : ฉันชอบเรื่องชีวิตกลางแจ้งตกปลาล่าสัตว์ที่สุด ครูมาลัยเขียนหนังสือน่าอ่านจริงๆ อ่านแล้วเหมือนเดินตามหลังตัวละครเข้าไปในป่าตามเนื้อเรื่อง
...........
6) คึกฤทธิ์ (สมศักดิ์ ภู่กาญจน์) : ทั้งรักทั้งชังท่านนะ คนนี้เก่งจริงๆ เป็นคนมีบุญญาธิการ เก่งทุกเรื่องยิ่งด้านวรรณกรรมไม่ต้องพูดถึง เอาแค่ “ห้วงมหรรณพ” นั้นครูสง่า อารัมภีร์ ท่านนั่งอ่านแกล้มเหล้าไปด้วยแน่ะ ข.บ.(ย่อมาจาก ขอบอก) : ควรอ่าน"โครงกระดูกในตู้" ควบไปด้วย มีเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยมากมาย เช่น ชุดโคมไฟแก้วเจียรไนเหนือที่พระที่นั่งที่ในหลวงประทับนั้นมีที่มาอย่างไร
.............
7) เหมืองแร่ (อาจินต์ ปัญจพรรค์) : หลงรักเรื่องนี้เหลือเกิน ไม่รู้ว่าทำไม ฉันรอดูหนังที่เขาสร้างกันอยู่
...........
8) เจ้าพ่อ เจ้าเมือง (อาจินต์ ปัญจพรรค์) : ฉ้นคนเดียวที่จะบอกว่าเรื่องนี้แหละมาเตอร์พีช “เหมืองแร่” เป็นรองเรื่องนี้เรื่องเดียว
.....
9) ศึกเจ้าพระยา (สุจิตต์ วงศ์เทศ) : มันส์มาก เลิฟซีนเป็นมหากาพย์ชั้นครู ให้ดีควรอ่าน"คนดีศรีอยุธยา" ของเสนีย์ เสาวพงษ์ ด้วย
.......
10) ดาบอุปราช (มาลา คำจันทร์) : ฉันเพิ่งนำขึ้นหัวเตียงเป็นเล่มล่าสุด ให้ครบรสต้องอ่านเพิ่ม "เพื่อนเก่าและบ้านเกิด โดย วานิช จรุงฯ, "ร่ายยาวแห่งชีวิต โดย อาจินต์ ฯ, คนทุ่งกุลา โดย กำนัน เดช ภูสองชั้น (คนไรชื่องามแท้)
.......
สุดท้ายฉันคัดเลิฟซีนในศึกเจ้าพระยามาฝาก
..
"เนื้อนิ่มพิมพ์พญาของพุมเรียงเต้นระรัว ๆ ราวกับสำเภาจีนนายก่ายกำลังขันชะเนาะประกับใบประกบวงอยู่กับกงวาน ความหนืดของเชือกหนังพังผืดควายที่เค้นขันเบียดเสียดดังสนั่น แลเรือทั้งลำก็สะเทือนสะท้านปานประหนึ่งแผ่นกระดานกระดกกระดนโด่จะกระเด็นกระดอนออกเป็นชิ้นเป็นอัน”
......
“สองแขนแอ่นอ่อนของพุมเรียงดูเลเพลาดพาดราวกับกิ่งไม้ต้องพายูโหมตะโบมกวัดไกวไปมิรู้ทิศมิรู้ทาง ครั้นกิ่งเปราะเราะรานหักผางลงกลางดินนั้น ก้านเรียวระบัดก็เสียบสุมขยุ้มลงบนพื้นดิน คล้ายกับนิ้วลำเทียนประสมเล็บยาวจิกจับเข้ากับเนื้อหนังมังสาของเจ้าพันแสงที่เหนียวหนับไปด้วยเหงื่อไคล”
.....
“พันแสงมันละเมอเพ้อพกประหนึ่งในอกกำลังอัดอั้นรบศึกพระยาศรีกำพูที่กลางพายุฝนที่กระหน่ำซ้ำซัด สองแขนมันยกดาบขึ้นฟาดฟัดเสียงดังฉาด ๆ ฉาด ๆ อยู่มิหยุดยั้ง ข้างเจ้าพุมเรียงเล่าก็ราวกับนอนระนาบอยู่บนแพไม้ไผ่ลอยไปอยู่กลางทะเลกล้ามหาสมุทรกว้าง คลื่นแต่ละลูกที่ซัดสาดกระหน่ำมาก็ทำให้ร่างเผยอลอยขึ้น-ลงไปตามกระแสแต่ละจังหวะของคลื่นลม ท้ายที่สุดก็คล้ายตะหนกตกประหม่าว่าแพจะคว่ำคะมำหงาย ตกใจถึงขีดสุดจึงยุดมือทั้งสองข้างด้วยกำลังแรง คลื่นลูกสุดท้ายก็ซัดโครมเข้าให้จนเปียกปอนกะปลกปะเปลี้ยไปตามๆกัน”
.....
เสียงจิ้งหรีดกรีดปีกอยู่ไกลๆ ทั้งพันแสงแลพุมเรียงก็อ่อนอกอ่อนใจอยู่กระนั้นนาน ไส้เดือนดินค่อยๆคลานออกจากรังแล้วก็หดตัวนอนนิ่งผึ่งลมอยู่ข้างๆพูทุเรียนที่เหี่ยวเฉาทิ้งอยู่โคนต้นละมุดละเมียดละไม”
......
ข.บ. : พันแสงเป็นข้าราชการพระนครอโยธยา
(จาก : คุณชยันต์)


แม่มักบอกให้ฉันเลือกหนังสือดีๆ สักเล่ม


แม่มักบอกให้ฉัน
เลือกหนังสือดีๆ สักเล่ม
.....

ฉันเริ่มเรียนรู้ที่จะอ่านวรรณกรรมมาตั้งแต่เรียนอยู่ในสมัยประถมปลาย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีแววเป็นนักอ่านเลยซักนิด ชีวิตในวัยเด็กของฉันรู้แต่เพียงว่า หนังสือเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ และเราควรจะอ่านหนังสือเฉพาะก่อนสอบเท่านั้น เพราะถ้าหากทำคะแนนนออกมาไม่ดี มีหวังโดนบ่นไปหลายวัน แถมอาจจะถูกลดค่าขนมอีกด้วย
........
แม่ เป็นผู้ที่ทำให้ฉันหันมาสนใจในการอ่านหนังสือ เมื่อไรที่แม่พาฉันไปร้านหนังสือ แม่มักบอกให้ฉันเลือกหนังสือดีๆ ซักเล่ม แต่ฉันก็ไม่เคยสนใจ ทุกครั้งที่กลับมาจากร้านหนังสือ ฉันมักได้หนังสือติดมือกลับมาทุกครั้ง และก็เป็นทุกครั้งที่ฉันมักจะวางหนังสือที่ได้มาไว้บนชั้น และคิดเสมอว่า “มันก็น่าเบื่อ เหมือนๆกับหนังสือเรียนนั่นเเหละ”
.......
และในวันหนึ่ง แม่ก็ได้พาฉันไปร้านหนังสือเช่นเคย ฉันได้สะดุดตากับหนังสือวรรณกรรมเยาวชนเล่มหนึ่ง ซึ่งมีชื่อหนังสือว่า “เด็กหญิงอีดะ” บนหน้าปกมีรูปเด็กผู้หญิงคนนึง หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลแอนเดอร์เสนนานาชาติ เขียนโดย มัตสุทานิ มิโยโกะ แปลโดย ผุสดี นาวาวิจิต วรรณกรรมเล่มนี้ ใช้ภาษาง่ายๆ แต่อ่อนหวาน
..........
หนังสือ “เด็กหญิงอีดะ”เล่มนี้เป็นเเรงจูงใจที่ทำให้ฉันหันมาอ่านหนังสือวรรณกรรมเยาวชนในเวลาต่อมา อาทิเช่น “คาราวานนางฟ้า” เขียนโดย บีทริกซ์ พ็อตเตอร์ “ฮัคผจญภัย” เขียนโดย มาร์ค ทเวน โรนญ่า เขียนโดย แอสตริด ลินด์เกรน ซึ่งหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ฉันชื่นชอบมาก โดยใช้เวลาอ่านรวดเดียวจบ
......
ฉันมักจะนั่งจินตนาการไปตามเนื้อเรื้อง ที่มีปราสาทห้อมล้อมไปด้วยธรรมชาติที่ลึกลับชวนติดตาม
...........
“แล้วเราก็เป็นเพื่อนกัน”เขียนโดย อี.แอล.โคนิกส์เบิร์ก “โมโม่” เขียนโดย มิฆาเอ็ล เอ็นเด้ “พี้ชยักษ์” เขียนโดย โรอัลด์ ดาห์ลวรรณกรรมที่เต็มไปด้วยจินตนาการอันกว้างไกล
.........
“แม่มด” ผลงานอีกชิ้นนึงของ โรอัลด์ ดาห์ล หนังสือเล่มนี้ได้เปลี่ยนความคิดในวัยเด็กของฉันที่เคยอยากเป็นเเม่มด ให้เกลียดแม่มดไปอย่างสิ้นเชิง เพราะหนังสือเล่มนี้ได้พรรณนาลักษณะและบุคคลิกของแม่มด ออกมาอย่างน่าขยะเเขยงมาก
...............

“ปราสาทในมนตรา” เขียนโดยอี.เนสบิต “พราวแสงรุ้ง”วรรณกรรมที่ได้รับรางวัลหนังสือแห่งชาติ พ.ศ. 2530 ของ วาวแพร เป็นหนังสือดีอีกเล่มที่เด็กทุกคนควรอ่านอย่างน้อย 1 ครั้ง เพราะนอกจากจะได้รับความเพลิดเพลิน แล้วยังเป็นการขัดเกลาจิตใจให้มีจิตใจที่ดีงามอีกด้วย
...........
(จาก : สุลักษณ์ แซ่ตั้ง / จ.เชียงใหม่)