ไม่อ่านได้ไหมพี่


Reading Machine
ไม่อ่านได้มั้ยพี่ ?
สงครามดวงตากับหน้ากระดาษ
-------------------
“ผมชอบอ่านหนังสือนะพี่ แต่ไม่ค่อยมีสตางค์ซื้อ”
“ตอนเรียนหนังสือ พี่ไม่ค่อยมีสตางค์ซื้อเหมือนกัน ก็อาศัยยืมห้องสมุดบ้าง ยืมเพื่อนบ้าง”
“แต่หนังสือที่เราอยากอ่าน บางทีห้องสมุดก็ไม่มี เพื่อนก็ไม่มีนะพี่”
“งั้นก็ยากหน่อย ไม่ลองหาวิธีดูหน่อยล่ะ พี่ว่าน่าจะมีทางนะ เช่นไปยืนอ่านในร้านวันละห้าหน้า หนังสือมีสองร้อยหน้า อ่านสักเดือนเศษๆ ก็จบเล่มแล้ว ถ้าเราอยากอ่านจริงๆ มันต้องมีวิธีจนได้ เราต้องหาโอกาสให้ตัวเองล่ะ”
“หนังสือในบ้านเราน่าจะมีราคาถูกกว่านี้นะพี่ น่าจะเห็นใจคนที่ไม่มีรายได้เป็นของตัวเองบ้าง”
“เท่าที่รู้ คนทำเขาก็อยากให้ราคาถูกเหมือนกันนะ เพราะหนังสือแพงมันก็ขายยาก”
………….
“พี่มีลูกสองคนค่ะ ไม่ชอบอ่านหนังสือทั้งสองคนเลย ทำอย่างไรจึงจะทำให้เขาหันมาสนใจอ่านบ้าง พอจะมีคำแนะนำบ้างไหมคะ”
“เขาโตหรือยังคะ”
“คนหนึ่งอยู่ม.1 อีกคนอยู่ม.5 ค่ะ”
“เขาได้เลือกหนังสืออ่านเองหรือเปล่าคะ”
“เอ่อ …พี่ก็ดูๆ ให้น่ะค่ะ ว่าเขาน่าจะอ่านอะไร ไม่ปล่อยทั้งหมด เพราะถ้าให้เลือกอ่านเองนี่ ก็อ่านแต่การ์ตูนอย่างเดียว”
“อ๋อ อ่านการ์ตูนบ้างก็ดีแล้วค่ะ การ์ตูนเดี๋ยวนี้ทันสมัยนะคะ บางเล่มมีเนื้อหาดีกว่าวรรณกรรมแท้ๆ ด้วยซ้ำ หนูยังลุ้นอยู่นะคะ ว่าเมื่อไหร่จะมีรางวัลโนเบลให้คนเขียนการ์ตูนบ้าง”
“แต่แหม พี่เป็นครูภาษาไทย ก็อยากให้ลูกรู้จักอ่านหนังสือดีๆ บ้างน่ะค่ะ”
“พี่อยากให้เขาอ่านอะไรบ้างคะ ไหนลองบอกชื่อหนังสือหน่อยสิคะ”
“ก็หนังสืออย่าง …..(รายชื่อหนังสือ)….”
“อ๋อ หนังสือพวกนี้วัยรุ่นอ่านไม่ค่อยสนุกหรอกค่ะ เรื่องปกติ พี่อย่ากังวลมากเลยค่ะ ถ้าเขาโตกว่านี้ เขาอาจจะรู้จักเลือกหนังสือดีๆ หรืออาจจะอยากอ่านมากขึ้นก็ได้ค่ะ มีเพื่อนคนหนึ่ง เมื่อก่อนไม่ชอบอ่านหนังสือเลยเหมือนกัน แต่เดี๋ยวนี้อ่านทุกอย่างเลยค่ะ อ่านมากกว่าหนูอีก”
“กลัวลูกพี่จะไม่เป็นเหมือนเพื่อนหนูนะสิคะ”
“เอ ไม่ทราบเหมือนกันค่ะ ว่าต้องทำอย่างไร เพราะจริงๆ แล้วที่ตัวเองชอบอ่านหนังสืออยู่บ้างนี่ก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นเพราะอะไรกันแน่ ที่บ้านมีน้องชายคนหนึ่งค่ะ โตมาในครอบครัวเดียวกันแท้ๆ แต่เขาก็ไม่ชอบอ่านหนังสือเลยค่ะ”
“อ้าว หรือคะ แล้วทำอย่างไรล่ะคะ”
“ไม่ได้อะไรหรอกค่ะ ก็ปล่อยเขา เขาทำกับข้าวเก่งค่ะ”
“ทำไมหรือคะ เป็นการชดเชยที่ไม่อ่านหนังสือหรือไงคะ”
“อาจจะอย่างนั้นก็ได้ค่ะ ธรรมชาติเขาชดเชยให้ การทำกับข้าวเนี่ยมันก็ต้องอาศัยความรู้และฝีมือมากเหมือนกันนะคะ เขาไม่อ่านความหมายชีวิตจากหนังสือ แต่อาจจะอ่านเอาจากกระดูกหมู อ่านจากเนื้อปลา จากขิงข่า จากพริกขี้หนู หรืออ่านจากต้นตะไคร้ก็ได้ คนเรามีวิธีเรียนรู้ชีวิตได้ต่างๆ กันได้นะคะพี่”
“ก็ยังดีนะคะ น้องชายหนูยังทำกับข้าวได้ แต่ลูกพี่เอาแต่เล่นเกมอย่างเดียวนี่สิคะ ทำไงดี”

“อ๋อ เล่นเกมก็โอเคค่ะ ลองกำหนดเวลาให้เล่นสิคะ เห็นพ่อแม่หลายท่านใช้ได้ผลนะคะ บางทีที่เขาเล่นเกมเนี่ย อาจจะดีกว่าก็ได้นะคะ เพราะถ้าเขาหันมาเข้าครัวทำกับข้าวแบบน้องชายหนู พี่อาจจะกังวลว่าเขาจะเป็นตุ๊ดอีกก็ได้ค่ะ”
“ (หัวเราะ) นั่นสิคะ”
……………..

“หนูอยากอ่านหนังสือดีๆ ค่ะพี่ แต่ไม่รู้จะอ่านอะไร”
“ น้องอ่าน แฮร์รี่ พอตเตอร์ หรือยังคะ”
“ ยังไม่ได้อ่านเลยค่ะ”
“ บริดเจ็ท โจนส์ ไดอารี่ล่ะ มีตั้งสองเล่มนะ”
“ ยังไม่ได้อ่านเหมือนกันค่ะ เอ่อ พี่คะ เราไม่อ่านหนังสือพวกนี้ได้ไหมพี่”
“ ทำไมล่ะ”
“ ไม่รู้สิพี่”

-------------------------------
“ หนังสือมันไม่ได้มีพิษภัยอะไร ทำไมเราต้องไปตั้งป้อมแอนตี้มันด้วยล่ะ”
“ ไม่รู้นะพี่ หนูว่าหนังสือมันดังจนรู้สึกเหมือนมีมือที่มองไม่เห็นมาบีบคอบังคับให้อ่านน่ะ”
“ ชอบที่น้องเปรียบเทียบนะ แต่ไม่คิดหรือว่า ที่หนังสือมันโด่งดังได้ขนาดนี้ อาจเป็นเพราะว่าหนังสือมันสนุกได้มาตรฐานระดับหนึ่ง มันถึงจับใจคนได้ในวงกว้างขนาดนี้”
“รู้นะพี่ หนูรู้ เชื่อด้วยว่ามันสนุก แต่ก็ไม่อยากอ่านน่ะ”
“เออแน่ะ ไม่อยากอ่านก็ไม่ต้องอ่าน ไม่เห็นจะเป็นไร หนังสือโลกนี้มีให้เลือกอ่านได้ตั้งเยอะแยะ ไม่อ่านเล่มนี้ เราอ่านเล่มอื่นก็ได้”


“นั่นสิพี่ อยากอ่านเล่มอื่น แต่ไม่รู้จะอ่านอะไร”
“ไม่มีอะไรอ่าน ก็ไม่ต้องอ่าน”
“อ้าว แล้วกัน ทำไมพี่พูดอย่างนั้นล่ะคะ ใครๆ เขาก็ว่าอ่านหนังสือแล้วจะดีนี่คะ พี่เป็นนักเขียนแท้ๆ พูดอย่างนี้ได้อย่างไร ถ้ามีคนแบบหนูเยอะๆ หนังสือพี่ก็ขายไม่ออกพอดี ”
“พี่ไม่ได้อยากให้คนอ่านหนังสือเพราะตัวเองเป็นคนเขียนหนังสือขายนะ”
“พี่ชอบแฮร์รี่ พอตเตอร์ ไหมคะ”
“ก็น่าสนใจดี แต่พี่ยังไม่ได้อ่านหนังสือนะ”
“พี่ไม่อ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์” (พูดเสียงดัง ตาโต)
“ไม่ใช่”ไม่อ่าน”ค่ะ แต่ “ยังไม่ได้อ่าน” หมายถึงว่าอาจจะอ่านเร็วๆ นี้”
“แต่ดูหนังแล้วใช่ไหมคะ”
“ไม่ได้ดูค่ะ”
“ทำไมคะพี่”
“ไม่อยากดู แต่อยากอ่านหนังสือนะ พี่ซื้อมาเก็บไว้ทุกเล่มล่ะ ตั้งใจจะอ่านเหมือนกัน แต่พอดีมันมีหนังสือที่พี่ต้องอ่านก่อนหลายเล่ม เลยไม่ได้อ่านสักที”
“แล้วบริดเจ็ท โจนส์ ไดอารี่ ล่ะคะ อ่านหรือยัง”
“อ่านแล้วค่ะ สนุกดี น้องอ่านสิ น่าจะชอบนะ”
“ขอคิดดูก่อนนะพี่ เพื่อนหนูอ่านกันทุกคนล่ะค่ะ มีหนูนี่แหละที่ไม่อ่าน”
“ตกลงมีปัญหาอะไรกันแน่ ไม่อยากอ่านเหมือนเพื่อน หรือไม่ชอบอ่านหนังสือกันแน่”
“นั่นสิคะ (หัวเราะ) หนูรู้นะพี่ ว่าการอ่านหนังสือเป็นสิ่งที่ดี”
“ขึ้นอยู่กับการรู้จักเลือกหนังสือดีๆ มาอ่านด้วยเหมือนกัน เพราะหนังสือไม่ได้ดีทุกเล่มหรอก เราต้องเลือก ซึ่งเมื่ออ่านไปเยอะๆ แล้วเราก็จะรู้จักเลือก รู้จักแยกแยะได้เองแหละ”
“ทำไมคนเราต้องอ่านหนังสือด้วยคะพี่”
“โลกเรามีหนังสือให้อ่าน ก็ควรอ่านนะ น่าจะดีกว่าทิ้งให้ปลวกกิน”
“เราไม่อ่านได้มั้ยพี่””
…………..

From : “pry”
----------------
สวัสดีค่ะน้อง ขอโทษด้วยที่ตอบช้า มันช้าเพราะมัวแต่คิดอยู่นาน ว่า “เราไม่อ่านหนังสือได้หรือเปล่า” คำตอบคือน่าจะได้สำหรับบางคน แต่บางคนคงไม่ได้ อาจจะเป็นคำตอบแบบกำปั้นทุบดินไปหน่อย แต่น่าจะเป็นจริงและเป็นอยู่ ตอนนี้ พี่ไม่มีคำตอบที่ดีกว่านี้ พี่ส่งภาพวาดมาให้ด้วยค่ะ เผื่อจะสนใจ นี่เป็นภาพ Reading Machine หรือ “เครื่องอ่านหนังสือ” จากหนังสือ Le diverse et artificiose machine (Paris, 1588) ของ อกอสติโน ราเมลลี่ วิศวกรชาวอิตาเลี่ยน เขาออกแบบขึ้นมาใช้ในราชสำนักฝรั่งเศส และมีผู้นำไปดัดแปลงทำใช้กันอย่างแพร่หลายจนทุกวันนี้
พี่ชอบเจ้าเครื่องนี้จัง ยังไม่เคยเห็นของจริงสักที แต่แอบเก็บรูปไว้ เพราะเคยคิดอยากจะทำไว้ใช้สักเครื่องเหมือนกัน แต่คงต้องขอปรับแบบนิดหน่อย เช่นเก้าอี้นั่งอาจจะทำให้ปรับนอนได้ แล้วก็มีโต๊ะพับสำหรับวางของกินหรือเครื่องดื่มได้เป็นอาทิ ได้คุยกับน้องวันนั้นแล้ว ก็คิดถึงรูปนี้ขึ้นมาได้ วันนี้พี่สงสัยว่า สำหรับน้อง หรือคนที่ไม่ชอบหนังสือ หรือไม่อ่านหนังสือ เมื่อได้เห็นเจ้าเครื่องมือนี้แล้วจะรู้สึกอย่างไร จะแปลกใจบ้างหรือเปล่าว่า ทำไมคนเราต้องอยากอ่านหนังสือพร้อมกันหลายเล่มขนาดนี้แล้วในหน้าหนังสือมันมีดีอะไร ทำไมวิศวกรอิตาเลี่ยนคนนี้ถึงกับต้องลงทุนประดิษฐ์เครื่องมือใหญ่โตขนาดนี้ขึ้นมาเพื่อช่วย “อ่าน” หนังสือโดยเฉพาะ ต้องขอโทษน้องด้วย ถ้าช่วยเหลืออะไรไม่ได้เลย
……………
-------------------------
To : “P'pry”

สวัสดีค่ะพี่’ปราย ขอบคุณพี่มากที่ไม่ลืมคำถามของน้อง ที่คุยกับพี่วันนั้น น้องก็กลับมาคิดว่า น้องไม่ควรกังวลใช่ไหมพี่ ถ้าเราต้องอ่านหนังสือ เพราะแค่รู้สึกว่าการอ่านหนังสือเป็นสิ่งที่ดี มันคงเป็นการอ่านที่ทรมานมากเลย ที่น้องมีปัญหากับการอ่านอยู่ตอนนี้ อาจเป็นเพราะว่าน้องยังไม่เจอหนังสือที่ถูกใจเท่านั้นเอง คงเป็นอย่างที่พี่บอกนั่นแหละ ว่ามันต้องใช้เวลา ตอนนี้ก็พยายามทำตามคำแนะนำของพี่ค่ะ น้องคงต้องทำใจให้กว้างกว่านี้ เพื่อให้โอกาสหนังสือประเภทต่างๆ เข้ามาในชีวิตเราให้มากที่สุด เห็นด้วยกับพี่ค่ะว่า ถ้าเรามีตัวเลือกน้อย โอกาสที่จะพบหนังสือที่เราชอบก็มีน้อยต้องขอบคุณพี่อีกครั้งที่เสียเวลาคุยเรื่องไร้สาระกับน้องขอให้พี่รักษาสุขภาพนะคะ
---------------
ปล. น้องชอบ Reading Machine ของพี่มากค่ะ ถ้าพี่อยากทำไว้ใช้ที่บ้านจริงๆ น้องว่าตรงเก้าอี้นั่ง พี่น่าจะทำเป็นชักโครกไปเลยนะคะ

--------------------------
-------------
Reading Machine
ไม่อ่านได้ไหมพี่? สงครามดวงตากับหน้ากระดาษ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์'ปราย พันแสง
นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์
ฉบับ 1118 วันที่ 21 มกราคม 2002
ภาพ www.pitt.edu
All Rights Reserved.
2006 Copyright©'prypansang

อาณานิคมหนังสือที่ต้องอ่านทั้งชีวิต






อาณานิคม
หนังสือ
ที่ต้องอ่าน
ทั้งชีวิต


หนังสือบางเล่ม ไม่เพียงแต่ส่งผลสะเทือนต่อชีวิตผู้อ่านสามัญเช่นเรา-ท่านเท่านั้น หากแต่ยังสั่นสะเทือนต่อความเป็นไปของโลกใบนี้ได้ด้วย
------------
ในช่วง 3-4 ปีมานี้ กระแสวรรณกรรมต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาในเมืองไทยจำนวนมาก จนแทบจะกลายเป็นอาณานิคมต่างชาติไปแล้ว นักอ่านไทยเรา นิยมอ่านแต่วรรณกรรมต่างประเทศ หรือหนังสือแปล จนหลายฝ่ายวิตกและหวั่นเกรงว่า วรรณกรรมพันธุ์ไทย ต้องตกต่ำ จนไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดกันเลยนับแต่นี้
--------------------
ฉันไม่คิดว่ามันจะเป็นเรื่องการตลาดหรือการค้าขายอย่างเดียว เพราะบางที วรรณกรรมต่างประเทศที่กำลังนิยมอ่านกันอยู่ตอนนี้ อาจกำลังปรับมาตรฐานการอ่านของเราอยู่ก็ได้
---------------
การที่ผู้คนชอบอ่านวรรณกรรรมต่างประเทศมากกว่าวรรณกรรมไทย นั่นอาจเป็นเพราะว่าเนื้อหาหรือรูปแบบบางอย่างของมัน สามารถตอบสนองรสนิยมการอ่านของพวกเขาได้มากกว่าก็ได้ บางทีเราอาจจะต้องทำความเข้าใจในสิ่งที่วรรณกรรมต่างประเทศเสนอสนองให้กับผู้อ่านมากกว่า
-------------------
อาณานิคมการอ่าน ทำให้นึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Books That Changed the World ของ Robert B.Downs เป็นหนังสือที่รวมไว้ซึ่งเรื่องราวของหนังสือที่มีอิทธิพลต่อความเป็นไปของโลก เกิดขึ้นในช่วงเวลาสี่ร้อยปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ศตวรรษที่16 จนกระทั่งศตวรรษที่ 20 ซึ่งถือว่าเป็นยุคที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางอารยธรรมมากที่สุดในช่วงหนึ่งพันปีที่ผ่านมา
----------------
เนื้อหาทั้งหมด ของ Books That Changed the World กล่าวถึงหนังสือหรือวรรณกรรมที่มีอิทธิพลต่อประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม อารยธรรม และ ศาสตร์ต่าง ๆ ในช่วงเวลาต่าง ๆ ที่มีการบันทึกอาไว้ ในรูปแบบงานเขียน เพื่อเป็นการบอกเล่าถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มีเกิดผลกระทบที่มีต่อมวลมนุษย์ทั้งหลาย ซึ่งหนังสือเล่มนี้ กล่าวถึงหนังสือทั้งหมดในเล่ม ด้วยพื้นฐานความคิดที่ว่า ในแต่ละยุคสมัย จะต้องมีหนังสือหรืองานเขียนของยุคนั้นเกิดขึ้น และจะต้องส่งผลกระทบต่อผู้คนและวัฒนธรรมในยุคนั้นในด้านหนึ่งเสมอ
--------------------------
จากการศึกษาอย่างจริงจังของ โรเบิร์ต บี.ดาวน์ส เขามีข้อสรุปว่า องค์ความรู้ด้านโบราณคดีหรือ มานุษยวิทยาของโลกเราทุกวันนี้ ยังไม่สามารถบ่งบอกถึงจุดเริ่มต้นของวรรณกรรมได้อย่างชัดเจนนัก จนกระทั่งมนุษย์เรามีการพัฒนาทางด้านงานเขียน เช่นมีการเขียนภาพตามผนังถ้ำ มีการประดิษฐ์อักษรเฮียโรกลีฟ,อักขระจีน เรื่อยมาจนกระทั่งตัวอักษรภาษาอังกฤษที่ใช้กันอยู่ทุกนี้
---------------------------
มนุษย์เราในยุคโบราณสร้างสรรค์วรรณกรรมด้วยการเขียนจารึกเอาไว้บนก้อนหิน ดินเหนียว จนกระทั่งมีการประดิษฐ์กระดาษปาปีรัส นักประวัติศาสตร์ทั้งหลายจึงสามารถประติดปะต่องานเขียนต่างๆเหล่านี้เข้าด้วยกัน จนสามารถถอดความหมายต่างๆ ออกมาได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพแห่งสุเมเรียน บาบิโลเนียน อียิปต์เชียน ฮิตไทต์ โฟนิคเชียน แอสซีเรียน และ อารยธรรมอื่น ๆ ในอดีตกาล
-------------------
โลกเราในยุคโบราณ มีการโยกย้ายถิ่นฐานของผู้คนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการบุกเบิกดินแดนใหม่ การไล่ล่าอาณานิคม การแลกเปลี่ยนทางการค้า ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ ก็เป็นเหตุให้มีการแลกเปลี่ยนภูมิปัญญา ทำให้ผลงานวรรณกรรมหรืองานเขียนต่างๆ ก็มีการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งมันอาจจะไม่ต่างอะไร กับกระแสนิยมอ่านหนังสือแปลที่กำลังแพร่หลายในบ้านเราตอนนี้!!
-----------------------
ถ้านักอ่านไทยเรายุคนี้ จะต้องตกเป็นทาสอาณานิคมหนังสือแปลเหมือนที่หลายฝ่ายเขาว่ากันจริงๆ ก็จะแปลกอะไรตรงไหน เพราะคนไทยเราก็เป็นทาสโน่นนี่มากมายอยู่แล้วไงตอนนี้
-----------------------
ทาสฮอลลีวู้ด,ทาสเกาหลี,ทาสยี่ห้อแบรนด์เนม – เป็นอาทิ
------------
จะเป็น "ทาสหนังสือ" อีกอย่าง ก็ออกเท่ดีจะตาย ว่ามั้ย :)
------------------------
--------------------------
5.
สมัยเป็นเด็กนักเรียน
เราเองยังเคยคิดโขมยหนังสือในห้องสมุดเลย
--------------
อ่านเรื่องที่คุณ’ปราย เขียนลงมติชนสุดฯฉบับ 1263 แล้วรู้สึกคันไม้คันมือ อยากเขียนเล่าให้ฟังตาคำชวน
--------------
อยากเล่าให้ฟังสั้นๆถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่เคยสถิตอยู่ในตู้หนังสือคอลเลคชั่นของเรา ที่จริงจะเรียกว่าหนังสือคอลเลคชั่นไม่น่าจะถูกนัก เพราะเก็บรวมๆ กันในตู้หนังสือหลายร้อยเล่ม หลายเนื้อหา รูปแบบ รวมๆ กันมั่วไปหมด แต่ยังไง หนังสือปกนี้มีที่มาให้ต้องเล่าถึง เพราะวนเวียนอยู่ในชีวิตเราอย่างน้อยตั้ง 18-19 ปีเข้านี่แล้ว หนังสือที่ว่าคือ One Robe,One Bowl ของ Ryokan แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย John Stevens และแน่นอน ตอนนี้ไม่ได้อยู่ในตู้หนังสือแล้ว มีคนยืมไปและทำให้เราเข้าใจว่าเขาคงชอบไม่แพ้กัน เพราะถึงป่านนี้ยังไม่คืนเลย แต่ยังไงไม่ว่ากันอยู่แล้ว เข้าใจคอหนังสือด้วยกันดี เหมือนครั้งหนึ่งสมัยเป็นเด็กนักเรียน เราเองยังเคยคิดโขมยหนังสือในห้องสมุดเลย ทำไงได้ หนังสือมันดี และอยากอ่านต่อแล้วเขาไม่ให้ยืม เลยกะโขมยเสียเลย ตอนนั้นยังโง่อยู่ มองไม่เห็นหรอกว่า มันไม่ดีต่อส่วนรวม
------------
ก่อนที่ One Robe,One Bowl จะเคยขอเข้ามาอยู่ในคอลเลคชั่นชั้นหนังสือ เมื่อประมาณห้าปีที่แล้ว ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 19 ปีก่อนโน้น ขณะยังเรียนหนังสืออยู่ ม.5 จำได้ว่าที่หอพักนักเรียน เราพบหนังสือปกเก่าคร่ำคร่าอยู่เล่มหนึ่ง ชื่อของมันคือ “คืนฟ้าฉ่ำฝน” เป็นบทกวีนิพนธ์ของเรียวกัน พระเซนชาวญี่ปุ่น แปลโดยสมภาร พรมทา ปกมันเก่าคร่ำจนจำไม่ได้หรอกว่าภาพปกเป็นยังไง คงอ่านกันมาหลายรุ่นเรายังเป็นเด็กนักเรียนอยู่ แต่พอได้อ่านเกร็ดประวัติของเรียวกันก็ชอบทันที คนอะไรอยู่ในกระท่อม วันดีคืนดี มีหน่อไม้งอกออกมาภายในกระท่อม มันโตรวดเร็วพรืดพราด ทำเอาเรียวกันกระวนกระวายใจ ยอดไผ่เริ่มแตะม้ายาวใกล้หน้าต่าง เขายิ่งตื่นเต้นนอนไม่หลับ ในที่สุด เขายินยอมเจาะม้ายาวให้เป็นช่องให้หน่อไม้ไผ่ทะลุผ่านไป และมันอาจโตพรูดเดียวถึงหลังคากระท่อมได้
---------------
จำไม่ได้แล้วว่าเขาเจาะหลังคากระท่อมด้วยหรือเปล่า แต่คราวนั้น หนังสือบทกวีเล่มนี้ก็วนเวียนอยู่ในชีวิตเราตลอด และได้มาเป็นเจ้าของ “กวีนิพนธ์ของเรียวกัน” ฉบับแปลโดยสมภาร พรมทา ในอีกบางปีต่อมา ซึ่งที่แท้ก็เป็นเล่มเดียวกัน แต่เป็นฉบับปรับปรุงเพิ่มเติม และเมื่อประมาณสัก 7 ปีทีผ่านมา ก็ได้เจออีกเวอร์ชั่นหนึ่ง ของชวนิต ศิวะเกื้อ ในร้านหนังสือเก่าแถวพัทลุง จากต้นฉบับภาษาอังกฤษเล่มเดียวกันนี่แหละ ในชื่อ “น้ำค้างบนใบบัว” จนล่าสุดเมื่อห้าปีที่แล้ว ก็ได้เป็นเจ้าของ One Robe,One Bowl ฉบับจริง ปกไม่สวย (ตามสายตาคนไทย) เป็นรูปศิลปะประดิษฐ์อักษรโดยเรียวกัน

-----
ภาคภาษาไทย น่าจะมีเวอร์ชั่นแปลออกมาได้เรื่อยๆ เพราะรู้สึกว่ามันน่าจะแปลให้ “ถึง” ได้อีก สำนวนในฉบับภาษาอังกฤษนี่กระชับ ง่าย ชัดเจน และมีความรู้สึก
------------
เดี๋ยวนี้ ค้นตู้หนังสือดูแล้ว ที่มีอยู่จริงๆ ก็คือ “กวีนิพนธ์ของเรียวกัน” ของ สมภาร พรมทา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ปี 2535 และ “น้ำค้างบนใบบัว” ของชวนิต ศิวะเกื้อ ที่หายไปจากตู้ หรืออยู่ที่ใครคนหนึ่งที่ยืมไป ก็คือ One Robe,One Bowl นี่แหละ เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นหนังสือที่ยังต้องอ่าน อ่านแล้วอ่านอีก อ่านเหมือนบทสวดมนต์เลยก็มี ถ้าใครมีหนังสือเล่มนี้อยู่ในมือ ขอทำสำเนาหน่อยเถอะ จักขอบพระคุณยิ่ง แต่ถึงไม่มีก็ไม่เป็นไรเราเชื่อของเราแบบไม่มีเหตุผลให้เชื่อได้เท่าไหร่ ว่าสักวันหนึ่งเราจะได้เป็นเจ้าของมันอีก เราเข้าใจคำว่า “หนังสือบางเล่ม คุณต้องอ่านมันทั้งชีวิต” จากหนังสือเล่มนี้
--------------
จาก: คุณ Tsb / จ.นครศรีธรรมราช

------------------
จดหมายของคุณ Tsb ทำเอาขนลุก อันที่จริง เคยอ่านแล้วมานานแล้วเหมือนกันนะ สำหรับ “กวีนิพนธ์ของเรียวกัน” ของ สมภาร พรมทา สงสัยอ่านมานานเกินไปเลยจำอะไรดีๆ จากหนังสือ อย่างที่คุณ Tsb เล่ามาไม่ได้แม้แต่น้อย
---------------
เล่าเร้าใจขนาดนี้ ต้องหามาอ่านอีกให้ได้เหมือนกัน
--
รู้สึกไหมว่า เวลาที่คนรักหนังสือ แนะนำหนังสือดีๆ ให้กัน มันจะมีอิทธิพลรุนแรงต่อเรามาก เพราะมันไม่ใช่หนังสือที่เราอ่านตามชาวบ้านเขาไปเป็นแฟชั่น เราไม่ได้อ่านเพราะเห็นว่ามันเป็นหนังสือที่ใครๆ เขาก็อ่านกัน แต่เราอ่านมัน,อ่านแล้วรักและผูกพัน
-----------------
เพราะนั่นเป็นหนังสือที่สั่นสะเทือนชีวิตเราอย่างจริงแท้!
--------------



น้องต่ายกับแม่ชีเทเรซ่า

4.
น้องต่าย
กับแม่ชีเทเรซ่า
Mother
Teresa
เพื่อจะได้พบสิ่งที่เรียกว่าความสุข คนเราอาจจำเป็นต้องกล้าเสี่ยงกับความทุกข์มากกว่านี้ก็ได้

-
----------------

--------------


สวัสดีค่ะ...พี่ ปราย :)
-------------------
ต่ายว่าโลกของเราเต็มไปด้วยการหาคำอธิบาย พี่ว่าจริงมั้ยคะ:) มนุษย์เราพยายามอธิบายสิ่งที่เรามี สิ่งที่เราเป็น หรือสิ่งที่เราไม่ได้มี และสิ่งที่เราไม่ได้เป็น ด้วยเหตุผลและเครื่องมือต่างๆ ทีสำหรับต่ายแล้ว...ต่ายเรียกมันว่า มุมมองนะ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการคิดแบบ สังคมนิยม ทุนนิยมสุดขั้ว แบบเรียลลิสลิกสุดฤทธิ์ หรือแบบโรแมนติกอย่างแรง ต่ายว่าสามารถนิยามได้ด้วยคำเดียวกัน ซึ่งก็คือคำว่ามุมมองนั่นเอง
------------------------
วันนี้ได้ไปเจอคำคมที่เคยชอบมากๆ (แต่ลืมไปแล้ว) ในหนังสือรวมคำเล่มนึงค่ะ :) ดูซิ...ขนาดชอบยังลืมๆได้ แม่ชีเทเรซ๋า บอกว่า “If you judge people you have no time to love them” มาอ่านอีกทีตอนนี้ต่ายว่ามันเป็นมุมมองที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ทางความรักหลายๆ เรื่องบนโลกนี้ได้ พี่สาวของพ่อต่ายคนนึง ใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ด้วยเครื่องกรองหลายระดับที่มีความแตกต่างกัน เค้าบอกว่าถ้าเข้ามาเป็นเพื่อนนี่ไม่คต้องกรองเท่าไหร่ นิสัยรับได้ก็คบกันได้แล้ว แต่ถ้ามีใคร หน้าไหน จะก้าวเข้ามาในเชิงความสัมพันธ์ที่ลึกกว่านั้นเนี่ยสิ จะจเอกับเครื่องกรองประสิทธิภาพสุดยอด กรองออกมาได้ผลละเอียดถี่ยิบ ถ้าผ่านได้ไม่ละลายหายไปในอากาศซะก่อน
------------------------------------------------
ก็ใช่ว่าจะจบแค่นั้นนะคะ ยังจะต้องมาเจอกับการประเมินอีกหลายขั้นตอน และสุดท้ายคือการตัดสิน หรือถ้าจเรียกให้โอเว่อร์แต่ทรงพลังเข้าไว้ ก็คือ... การพิพากษานั่นแหละ...แต่เท่าที่สังเกตดูไม่ค่อยมีใครผ่านเข้ามาถึงขั้นนี้หรอกค่ะ เอิ๊กๆๆ ส่วนใหญ่จะไปตายติดกันอยู่แถวๆ เครื่องกรองนั่นแล้วล่ะ
---------------
ต่ายเคยคิดว่ามุมมองวิธีคิดแบบนี้มันเท่มากเลยค่ะพี่ เป็นแนวที่ทำให้เราปกป้องตัวเองจากหลายๆ อย่างได้ แต่ต่ายก็ทำแบบนั้นไม่ได้หรอกนะคะ ซึ่งไม่แปลกอะไร มีเรื่องที่ต่ายชอบแต่ทำไม่ได้ถมไป :) แต่พอวันนี้มาเจอคำพูดของแม่ชีเทเรซ่า เข้าอีกรอบหนึ่ง ความชอบเลยสะดุดกึกะทันหันค่ะ นั่นสิเนอะ... ถ้าเรามัวแต่เอาเวลาไปตัดสิน คงไม่มีเวลาเหลือจะไปรักใครหรอก
-----------------
บางที... เพื่อจะได้พบสิ่งที่เรียกว่า ความสุข คนเราอาจจำเป็นต้องกล้าเสี่ยงกับความทุกข์มากกว่านี้ก็ได้ อันที่จริงมันเข้ากับหลักความเชื่อของต่ายอยู่เหมือนกันนะคะ ต่ายว่ามีนิสัยชอบเสียงอยู่ระดับหนึ่งเลยล่ะ ไม่ค่อยมีเรื่องไหนในชีวิตที่ทำแบบเอาปลอดภัย เดินทางสายกลาง อะไรประมาณนั้น มีพี่คนนึงเคยแขวะว่าต่ายเป็นคนประเภท Upper หรือ Lower อยู่ตลอดเวลา เดินทางสายกลางไม่เป็น ไม่รู้จักความพอดี แต่ก็อีกแหละค่ะ อะไรคือความพอดีล่ะ ทางสายกลาง อาจพอดีสำหรับใครบางคน แต่อาจไม่พอดีสำหรับต่ายก็ได้... ใครจะไปรู้ :)
--------



จดหมายของต่ายฉบับนี้... พิมพ์อีกแล้ว... ยังยืนยันเหมือนเดิมค่ะ ว่าชอบอารมณ์ของการนั่งเขียนด้วยลายมือจริงๆ มากกว่า แต่คนเราไม่จำเป็นต้องทำในสิ่งที่ตัวเองชอบอยู่ตลอดเวลาใช่มั้ยคะ :) อิๆๆๆ อันที่จริงช่วงนี้แอบๆ ยุ่งอยู่หน่อยๆค่ะพี่ เลยไม่มีเวลานั่งเขียน ที่โรงเรียนมีกิจกรรมเข้ามามากมาย ถึงต่ายจะเป็นเด็กเลวไม่ค่อยได้ทำ พลังอำนาจแห่งความยุ่งเหยิงก็ยังกระเซ็นมาโดนตัวเอาบ้างอยู่ดี นี่ก็นั่งพิมพ์รายงานอยู่เล่มนึง นอกจากนั้น... ช่วงนี้ยังเป็นเวลาสำหรับการเตรียมใจรับสถานการณ์ เพราะผลคะแนนเอนทรานซ์รอบแรกจะออกแล้วจ้า!!! หุๆๆๆ เอนทรานซ์ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิต แต่ยังไงซะก็ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรามีโอกาสเลือกทางดำเนินชีวิตอยู่ดี ดังนั้น เอนท์ติดย่อมดีกว่าแน่นอน ดีกว่าเยอะค่ะ
----------
อ้อ! ... ต่ายยังไม่ได้อ่าน มนุษย์ดอกไม้พันห้าร้อยปี เลยค่ะพี่ น่าน้อยใจชะตากรรมของเด็กต่างจังหวัดซะจริงๆ ฮิๆๆๆ ก็มันยังไม่มีมาขายแถวนี้เลยอ่ะ
----------------------------------
ก็หวังว่าพี่'ปราย จะสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุขนะคะ ในโลกนี้คงไม่มีอะไรสำคัญไปมากกว่าความสุขอีกแล้ว อวยพรไปยังไม่รู้เลยว่าพี่จะมีเวลาอ่านจดหมายต่ายรึเปล่า
--------------
แต่ช่างเถอะค่ะ ต่ายพอใจแค่ได้เขียนแค่นั้นล่ะค่ะ
--------
จาก: วนัสนันท์ สะสม /พิษณุโลก
www.geometry.net
www.excerptsofinri.com
www.americancatholic.org
Mother Teresa
painted by Judi Wild

www.judiwildartist.com



ฟงอวิ๋นและหนังสืออื่นๆ

3.

ฟง อวิ๋น ภาคที่เป็นนิยาย เป็นภาคที่เขียนให้มีความแตกต่างจากการ์ตูนและภาพยนตร์ แต่ว่าเขียนลักษณะของคนแบบต่างๆ ได้ชัดเจนและสะเทือนใจ ทำให้เข้าใจในเรื่องการทำให้ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบรับ และไม่หวังว่าผู้รับจะรับรู้
-------
deadreading ชั้นหนังสือคนตาย
จาก : คุณพงศา จิรรัตนโสภา / จ.ยะลา
ภาพจาก www.burapat.com

--
-------------
ผมเป็นคนที่โชคดีที่มีพี่ๆ ทั้งสามเป็นนักอ่าน และชอบอ่านหนังสือไม่ค่อยเหมือนกัน ทำให้ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือหลากหลายรูปแบบ ก็ประหยัดเงินดี แต่ผมไม่ค่อยมีหนังสือบนชั้นของตัวเองเท่าไหร่
-------------
แต่พอเข้าเรียนมหาวิทยาลัย สาขาการบริหารทรัพยากรมนุษย์และองค์การ ทำให้มีรสนิยมการอ่านเป็นของตัวเอง ความสนใจหนังสือเริ่มชัดเจนขึ้น หนังสือบนชั้นที่ผมชอบเป็นพิเศษมีดังนี้
-----------------
"แด่คุณครูด้วยดวงใจ" เป็นหนังสือของพี่ๆ ที่เป็นหนังสือแปลมีเนื้อหาเกี่ยวกับคุณครูที่ทุ่มเทชีวิตเพื่อที่สอนให้นักเรียนได้เรียนรู้และเติบโต เป็นหนังสือที่ทำให้เกิดความเข้าใจในอาชีพครูมากขึ้นและสร้างกำลังใจที่จะศึกษา สร้างความรู้สึกอยากถ่ายทอดความรู้ที่มีให้กับผู้อื่น
-------------------
"กระบี่เย้ยยุทธจักร" ของ "กิมย้ง" อันนี้ของผมเอง เนื่องจากชอบในละครทีวีที่ดู เลยไปหาซื้อหนังสือมาอ่าน ทำให้ชอบมากขึ้นไปอีก เนื่องจากเป็นนิยายที่ทำให้เข้าใจประโยคที่ว่า "อย่าตัดสินคน จากที่เห็นภายนอก" และเป็นหนังสือที่ชี้ให้เห็นถึงการเมืองภายใต้ผลประโยชน์ชี้นำ ไม่มีมิตรที่แท้และศัตรูที่ถาวร
--------------------
วารสาร "คน" ของ PMAT เป็นวารสารด้านงานบริหารทรัพยากรมนุษย์ เป็นวิชาชีพผมเอง เลยชอบอ่านเพื่อติดตามความเป็นไปของวงการนี้ได้ทัน
---------------------
"สามก๊ก" อันนี้คงไม่ต้องอธิบายมากมาย แต่เนื่องจากอ่านไม่ครบสามรอบ และจำตัวละครได้ไม่หมดน่าจะยังเป็นคนที่คบได้อยู่
--------------------
"มังกรคู่สู้สิบทิศ" อันนี้อ่านเพราะว่ามีการสอดแทรกความคิดในเรื่องต่างๆ มากมาย ทั้งความคิดเชิงศาสนา การบริหาร การใช้ชีวิต แต่ดูเหมือนจะหนักทางศาสนาเยอะเหมือนกัน อ่านแล้วทำให้ได้คิดอะไรมากมายมีประโยคที่ทำให้เข้าใจอะไรมากขึ้น กว้างขึ้น
--------------------
"ฟง อวิ๋น" ภาคที่เป็นนิยาย เป็นภาคที่เขียนให้มีความแตกต่างจากการ์ตูนและภาพยนตร์ แต่ว่าเขียนลักษณะของคนแบบต่างๆ ได้ชัดเจนและสะเทือนใจ ทำให้เข้าใจในเรื่องการทำให้ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบรับ และไม่หวังว่าผู้รับจะรับรู้ ย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูก เพื่อน และคนรัก
---------------------------
ขอบคุณที่ยอมอ่าน เรียนคุณ 'ปราย ผมมีหนึ่งเรื่องอยากจะสารภาพ นั่นคือ ผมเพิ่งทราบว่าคุณเป็นผู้หญิง ทั้งนี้ เนื่องจากผมมีเพื่อนคนหนึ่งชื่อปลายเหมือนกัน เขาเป็นผู้ชาย ทำให้เข้าใจผิด ว่าแต่ว่าคุณเองก็จะเล่าถึงหนังสือบนชั้นของคุณทราบด้วยใช่ไหมครับ ผมหวังว่าอย่างนั้น
-----------------------




หนังสือปลุกใจเสือป่า โฮก!


1.
หนังสือปลุกใจเสือป่า ...โฮก!
ขอพูดสั้นๆ มันเป็นชีวิตผมว่ะ!
โคตรหวงเลยนะ
ช่วยเผาให้สักเล่มสิ
--------------

deadreading

best reading

ชั้นหนังสือคนตาย






ต้องยอมรับว่า "ชั้นหนังสือคนตาย" ของคุณๆ ที่เขียนส่งเข้ามา ล้วนแต่น่ารักน่าสนใจจริงๆ ขอยกตัวอย่าง "บางตู้" ของ "บางศพ" มาให้อ่านหน่อยก็แล้วกัน :) เรื่องแรก เป็นเรื่องราวตู้หนังสือของ "คุณธาตรี" เขียนมาว่า "หากคุณได้รับจดหมายฉบับนี้-คงหมายถึงผมไม่อยู่หรืออาจจะตายไปแล้ว ผมไม่รู้แน่หรอกนะว่าคุณคนที่กำลังอ่านเป็นใคร แต่ผมมั่นใจว่าคุณต้องเป็นคนที่ผมรักแน่ๆ เอ้า ! มาดูซิว่ามีอะไรกันบ้าง"
------------
"หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น-ผมกับหนังสือการ์ตูนถือว่ากรีดเลือดสาบาน คงเพราะเก็บกดมาตั้งแต่เด็ก ตอนนั้นจะหาอ่านการ์ตูนสักเล่มยากแสนยาก ทั้งโดนผู้ใหญ่ว่าและไม่มีเงินซื้อ รู้ไหมว่าผมอ่านหนังสือออกตัวแรกและผมภูมิใจมาก คือคำว่า "โดเรม่อน"การ์ตูนทุกเล่มผมถือว่ามีบุญคุณที่หล่อหลอมให้กลายเป็นนักเขียนการ์ตูนจนถึงทุกวันนี้ พูดได้เต็มปาก-ผมอ่านการ์ตูนตั้งแต่เกิดยันตาย เศร้าใจอยู่อย่างเดียวตรงที่ผมมีหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นมากกว่าการ์ตูนไทยชนิดเทียบกันไม่ได้ เอ่อ...ในนั้นอาจจะมีการ์ตูนโป๊แซมบ้างสักหน่อย อย่าไปบอกใครนะว่าผมมี-ถ้าจะบอกช่วยหักหลักสิบออกด้วย"
--------------
"หนังสือปลุกใจเสือป่า ...โฮก-ขอพูดสั้นๆ "มันเป็นชีวิตผมว่ะ !" โคตรหวงเลยนะ ช่วยเผาให้สักเล่มสิ ในนั้นคุณน่าจะเห็นต้นฉบับการ์ตูนโป๊ที่ผมเขียนขึ้นเอาไว้อ่านเอง เซอร์ไพรส์ ! ผมเคยคิดอยากจะบอกให้คุณเอาไปพิมพ์แจกเป็นหนังสือที่ระลึกงานศพตัวเองนะ แต่ติดว่าไอ้ตัวนางเอกนี่ผมดันใช้ชื่อคนรู้จักนี่สิ"
--------------
"หนังสือวรรณกรรม-ผมอ่านเล่มแรกตั้งแต่อยู่ ป.3 คือ "โรบินสัน ครูโซ" ฉบับเยาวชนของสำนักพิมพ์เม็ดทราย ใช้เวลาอ่านนานมาก พออ่านจบเหมือนกับพิชิตยอดเขาได้ จากนั้นผมก็หาอ่านตามห้องสมุดเรื่อยมา ไม่ค่อยซื้อเพราะไม่มีตังค์ ทำไมวรรณกรรมมันถึงราคาไม่เท่าหนังสือการ์ตูนไปเลยนะ จำได้ว่าเล่มที่ซื้อเองครั้งแรกคือ "สัตว์ประหลาดแห่งทะเลสาบ" (ป.4) วรรณกรรมแปลเยาวชนนั่นแหละ"

"ลามเรื่อยมาก็เป็นพวก "พล นิกร กิมหงวน" (เพราะราคามันถูก) มาซื้อเอาตายตอนช่วงเรียนราชภัฏฯ พวกซีไรท์ไทย ฯลฯ ก็ผมไม่รู้จะอ่านอะไรเลยซื้อเอาเล่มที่ใครๆ เขาว่าดีไว้ก่อน แต่เล่มหนึ่งที่ผมประทับใจมากคือ "จับตาย" รวมเรื่องเอก ของ มนัส จรรยงค์ ชอบมากๆ เลย หลังจากนั้นก็เป็น "เวลา" ชาติ กอบจิตติ, "แผ่นดินอื่น" กนกพงศ์ สงสมพันธ์, "หลังเที่ยงคืน" จำลอง ฝั่งชลจิตร, "ฉันจึงมาหาความหมาย" วิทยากร เชียงกูล แหม มันโดนใจในช่วงนั้น" ปิดท้ายด้วย "สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน" วินทร์ เลียววาริณ ก่อนที่ผมจะโบกมือลาวรรณกรรมเพื่อชีวิตของไทยชั่วคราว เมื่อรู้ว่าจริงๆ แล้วตัวเองชอบความท้ายทายและแปลกใหม่"
----------
"จากนั้นผมก็ไปตะลุยอ่านเฮอร์มาน เฮสเส-สเตปเปนวูล์ฟ,มิลาน คุนเดอรา, โอ"เฮนรี่, ดอสโตเยสกี้ ฯลฯ นั่นแหละ ไอ้พวกกระแดะๆ อ่านแล้วน่าฉลาดนี่ผมพยายามหามาอ่านหมด และก็แปลกใจที่เมื่ออ่านจบแล้ว ส่วนใหญ่ผมประทับใจกับพวกมันมาก"
-----------------------
"ต่อมาผมหันไปบ้าญี่ปุ่นอีก ตั้งแต่ คาวาบาตะ, รัมโป ลามมา มูราคามิ, ซูซูกิ โคจิ, ทากุจิ แรนดี้, โอตสึ อิจิ สักพักผมก็แวบมาบ้า "รงค์ หลังๆ ผมก็ย้อนกลับมาอ่านวรรณกรรมเยาวชนอีก สรุป รสนิยมจริงๆ ของผมคือ ผมชอบหนังสือที่ให้แรงบันดาลใจ ทั้งพิศวงชวนประหลาดใจผมเห็นด้วยกับที่ใครไม่รู้ว่าหนังสือเล่มหนึ่งๆ มันเหมาะกับแค่คนบางคนและบางช่วงเวลา หลังๆ นี่บางเล่มหน้าปกยังไม่อยากจะมอง แปลกใจว่าเคยชอบมันได้ยังไง เลยเอาไปบริจาคย้อนหลัง"
-------------
"ฉะนั้น เมื่อผมไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว หนังสือทั้งหมดที่เหลืออยู่ตรงหน้าคุณ ให้รู้เถิดว่ามันเป็นเพื่อนรักที่ไม่มีชีวิต (แต่มีจิตใจ) ของผม ผมอยู่กับมัน รักและภูมิใจในตัวพวกมัน-อิทธิพลของมันโคจรอยู่รอบตัวผม บัดนี้ผมขอโอนถ่ายมันให้กับคุณ มันเป็นกรรมสิทธิ์ของคุณเต็มที่ที่จะทำอะไรกับมันก็ได้ตามสมควรโดยผมขอรับรองว่าจะไม่เป็นผีมาหลอกคุณแต่อย่างใด"
-------------------------------------------
-------------------------------------

2.

The God Father ปกขาดและหน้าสุดท้ายหายเล่มนั้น ที่พ่อทิ้งเป็นสมบัติไว้ให้ระลึกถึง

dead
reading
best
reading
ชั้นหนังสือ
คนตาย

สําหรับเรื่องราวตู้หนังสือส่วนตัวของคุณ "Barfinn" สาวใต้ ก็น่ารักไม่แพ้กัน เธอเขียนมาเล่าว่า "ตู้หนังสือของฉันประกอบด้วยหนังสือสองยุค ยุคแรกคือยุคที่ฉันเริ่มอ่าน หนังสือในยุคนี้จึงเป็นหนังสือวรรณกรรมเยาวชนเป็นส่วนใหญ่ โดยเล่มโปรดก็มีหนังสือแปลของ หมอเจมส์ เฮอร์เรียต และ โรอัลห์ ดาห์ล ทุกเล่ม แตงดองแกล้มช็อกโกแลต ซาฮาร่าแดนฝัน เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก"
--------------
"ยุคที่สอง ยุคที่จินตนาการเริ่มจางหาย หนังสือที่อ่านส่วนใหญ่จึงไม่ใช่หนังสือวรรณกรรมเยาวชน (ยกเว้น แฮร์รี่ พอตเตอร์) แต่จะแบ่งเป็นหนังสือนวนิยาย หรือเรื่องสั้นไทยย้อนยุค เช่น เพชรพระอุมา สี่แผ่นดิน รัตนโกสินทร์ บูรพา ร่มฉัตร หนังสือของ สุวรรณี สุคนธา และ พล นิกร กิมหงวน ฉันอ่านหนังสือนวนิยายไทยย้อนยุคเพราะชอบภาษาและบรรยากาศเป็นสำคัญ"
----------------
"หนังสือแนวฆาตกรรม หักมุมก็เป็นอีกประเภทที่ฉันชอบเพราะชวนติดตาม ฉันจึงสะสมเรื่องสั้นแปลของมนันยา และหนังสือแปลของ โรจนา นาเจริญ นอกจากหนังสือทั้งสองแนวที่ชัดเจนแล้ว ในยุคนี้ฉันก็อ่านหนังสืออีกหลายแนว ทั้งสารคดี เรื่องสั้น นิยายชวนหัว ฯลฯ"
------------------
"หนังสือของฉันทุกเล่มฉันจะถนอมอย่างดี สำหรับฉันคงนับว่าเป็นโชคดีอย่างหนึ่งที่หนังสือไม่สามารถพูดออกมาได้ เพราะไม่ฉะนั้น ฉันคงถูกหนังสือหลายเล่มตัดพ้อจากการใช้งานที่ไม่สมกับที่พวกเค้าเป็นหนังสือ เพราะหนังสือเกือบทุกเล่มรับใช้ฉันแค่คนเดียว เนื่องจากฉันไม่มีพี่น้อง (นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่แม่ยังสงสัยไม่เลิกว่าทำไมฉันต้องซื้อหนังสือมาเก็บ เช่าอ่านไม่ดีกว่าหรือ) บางเล่มอาจโชคดีที่ฉันนำไปให้เพื่อนยืมอ่านพร้อมคำโฆษณายืดยาว"
---------------


---------------------
"ตั้งแต่เด็กแล้วที่ฉันอิจฉาเพื่อนๆ ที่พ่อแม่เก็บหนังสือดีๆ ไว้ให้ เพราะหนังสือที่บ้านมีอยู่น้อยมาก เนื่องจากแม่ของฉันเป็นคนไม่ชอบอ่านหนังสือ ส่วนพ่อนั้นแม้จะเรียกได้ว่าเป็นหนอนหนังสือ แต่หนังสือของพ่อจะไปอยู่อีกบ้านหนึ่ง หนังสือที่บ้านทุกวันนี้ จึงล้วนแต่เป็นหนังสือที่ฉันสร้างขึ้นเอง (ยกเว้น The God Father ปกขาดและหน้าสุดท้ายหายเล่มนั้น ที่พ่อทิ้งเป็นสมบัติไว้ให้ระลึกถึง)
--------------
"โดยคิดเผื่อว่าวันหนึ่งถ้าฉันมีลูก ลูกของฉันจะได้คิดว่าเค้าเป็นเด็กโชคดีที่มีหนังสือดีๆ รอให้อ่าน คิดแล้วก็คงเหมือนเป็นการทดแทนสิ่งที่ฉันขาดในวัยเด็ก...เหมือนการเยียวยาตัวเอง"
-------------
"ถ้าฉันตายกะทันหันโดยไม่มีลูก เพื่อนรักคนหนึ่งจะเป็นคนจัดการเกี่ยวกับหนังสือ (หรือสมบัติบ้าที่แม่เรียก) ฉันอนุญาตให้เพื่อนรักเลือกหยิบไปได้ด้วยความสะดวกใจ ที่เหลือให้นำไปบริจาคตามสถานที่เห็นสมควร"
--------------
"โดยห้ามเอาไปขายแม้แต่เล่มเดียว"


dead reading,best reading

dead
reading
best
reading


ชั้นหนังสือ
คนตาย


สมัยยังเรียนหนังสือ เวลาไปบ้านเพื่อนคนหนึ่ง ฉันจะบอกมันทุกครั้งว่า "ฉันอิจฉาแกว่ะ" เพราะมันเกิดมาท่ามกลางหนังสือดีๆ มากมายบ้านเพื่อนคนนี้มีตู้หนังสือไม้สักใหญ่โตมาก เนื้อไม้เป็นมันเงาวับ ในตู้นั้นบรรจุวรรณกรรมระดับสุดยอดเอาไว้เพียบ

----------------------------
The Old Man and the Sea
New York: Life Magazine, 1952.
www.lib.udel.edu
--------------------------------------
ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ สงครามชีวิต ของ ศรีบูรพา, ขลุ่ยไม้ไผ่ ของ พจนา จันทรสันติ, The Old Man and the Sea ของ เออร์เนสต์ เฮมมิ่งเวย์, Of Mice and Men หรือหนังสือเล่มอื่นๆ ของ จอห์น สไตน์เบค ประมาณว่าน่าจะมีครบชุดเลยล่ะแม้กระทั่ง "คู่กรรม" ของทมยันตี ก็มีอยู่ในบ้านมันตั้งแต่เกิดแล้ว
----------------------
ในขณะที่ฉันต้องใช้ความเพียรพยายามค้นควานหาหนังสือเหล่านี้มาอ่าน จากห้องสมุดบ้าง จากเพื่อนๆ พี่ๆ เขามีเมตตาหยิบยื่นให้ยืมอ่านบ้าง บางเล่มตอนนั้น ต้องไปอาศัยยืนอ่านเอาทีละหน้าสองหน้าจนจบเล่มจากร้านหนังสือละแวกหน้ามหาวิทยาลัย เพราะไม่มีเงินซื้อ
-----------------
แต่เมื่อถึงวันนี้ ฉันไม่ได้รู้สึกอิจฉาเพื่อนคนนี้อีกต่อไปแล้ว เมื่อเริ่มตระหนักได้ว่า การเติบโตมาในบ้านที่ไม่มีของแบบนี้มาตั้งแต่เกิด มันก็ดีอยู่เหมือนกัน เพราะมันทำให้เราขวนขวายหาอ่านโน่นอ่านนี่อย่างไม่รู้จบสิ้น ในขณะที่เพื่อนฉันคนนั้น ...ในทุกวันนี้มันอ่านคู่กรรมยังไม่จบเล่มเลย

ฉันได้รับสิ่งดีๆ มากมายในชีวิตจากการอ่านหนังสือ หนังสือดีๆ ชักจูงให้ฉันได้พบเจอคนที่ดี ได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ทำให้ฉันมีโอกาสก่อร่างสร้างฝันให้เป็นจริงได้อย่างไม่รู้จบสิ้น
------------------
ฉันเพิ่งอ่านพบบทความเรื่อง Learning to Read a Doctor’s Books ของ เคน กอร์ดอน ที่ได้เขียนเล่าเรื่องการเสียชีวิตของอายุรแพทย์วัยแปดสิบกว่าปีผู้หนึ่งว่า แม้ครอบครัวของเขากับนายแพทย์ชราผู้นี้ จะสนิทสนมคุ้นเคยกันมานานปี แต่เขาก็ไม่เคยรู้สึกว่าได้ "รู้จัก" กับผู้ตายอย่างแท้จริงเลยจนกระทั่งนายแพทย์ผู้นี้ได้เสียชีวิตลง และกอร์ดอนเพื่อนๆ ก็ได้เข้าไปในบ้านของผู้ตาย เพื่อเก็บข้าวของที่ต้องการเอาไว้ ก่อนที่จะยกมรดกที่ที่เหลือให้เป็นสาธารณกุศล
ภายในอพาร์ตเมนต์มีข้าวของมากมาย เช่น แว่นตาสะสมหลายอัน, แผ่นเสียงจำนวนมาก, เบียร์โคโรน่าหนึ่งขวดในตู้เย็น และสิ่งที่กอร์ดอนสนใจที่สุดก็คือบนชั้นหนังสือ – มีหนังสือแปลหลายภาษาที่เกี่ยวกับเรื่องอายุรเวช ซึ่งเป็นของสะสมกอร์ดอนประทับใจมากบนชั้นหนังสือนั้น กอร์ดอนเห็นหนังสือ Paris France ฉบับพิมพ์ครั้งแรกของ เกอร์ทรูด สไตน์, นวนิยายเรื่อง Days of Wrath ของ อังเดร มัลโรซ์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ในปี 1936, หนังสือ Cast a Cold Eye ของ แมรี่ แม็กคาร์ธี่ย์, มีหนังสือรวมบทกวีของ ไดแลน โธมัส, The Second Tree From the Corner ของ อี.บี.ไวท์ โดยกอร์ดอนได้หยิบเอาหนังสือ War and Peace ของ ลีโอ ตอลสตอย ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1899 มาด้วย
-----------------
นอกจากนี้ บนชั้นหนังสือของนายแพทย์ผู้ตายยังมีหนังสือ English-language Rabelais ฉบับตีพิมพ์ในปี 1905 มีนิยายภาษาฝรั่งเศส Madame Bovary ของกุสตาฟ โฟลแบร์ ฉบับปี 1957, มีหนังสือ The Aleph and Other Stories ของ ฌอร์จ หลุยส์ โบชีส์, Consider the Oyster ของ เอ็ม.เอฟ.เค.ฟิชเชอร์ และยังมีหนังสือเปื่อยผุอย่าง Satchmo ที่แต่งโดย หลุยส์ อาร์มสตรอง และ St.Peter’s Day and Other Tales ของ แอนตัน เชคอฟ อยู่ด้วยรสนิยมทางวรรณกรรมของผู้ตาย ทำให้กอร์ดอนประหลาดใจมาก ว่าเหตุใดผลงานของ อี.บี.ไวท์ และ ตอลสตอย รวมทั้ง งานเขียนของ เกอร์ทรูด สไตน์ จึงปรากฏอยู่ในชั้นหนังสือสะสมของนายแพทย์ชราผู้นี้ และกอร์ดอนก็เสียดายมาก ที่เขาไม่เคยมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ตายถึงหนังสือเหล่านี้เลย
----------------
และในทุกวันนี้ กอร์ดอนก็ยังไม่มีคำตอบเกี่ยวกับหนังสือเหล่านี้
----------------
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ลองถามตัวเราเองบ้างดีไหม ว่าถ้าเกิดเราเสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน แล้วมีใครเข้าไปรื้อชั้นหนังสือที่บ้านเราเหมือนกอร์ดอน พวกนั้นจะได้เจออะไรบนชั้นหนังสือของเราบ้าง
-----------------
ลองเขียนมาเล่าสู่กันฟังหน่อยดีไหมคะ


-----------------------
deadreading
ชั้นหนังสือคนตาย
ตีพิมพ์ครั้งแรก
ในคอลัมน์ 'ปราย พันแสง
นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์
ฉบับวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2547
ปีที่ 25 ฉบับที่ 1263

ภาพและข้อมูล www.lib.udel.edu
www.oceanworld.tamu.edu
www.losgardenios.com.pl
www.manhattanrarebooks.com

--------------------------
ปรากฎว่า หลังจากนั้น มีผู้อ่านเขียนจดหมายเข้ามาร่วมสนุกเป็นจำนวนมาก ฉันเองคัดนำไปลงตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ได้ประมาณสิบกว่าฉบับ แต่ยังเก็บจดหมายเหล่านั้นเอาไว้อย่างดีทุกฉบับ พอมีเวลา เลยขอวานแรงน้องๆ ใกล้ตัว ช่วยนำจดหมายเหล่านั้นมาพิมพ์เป็นไฟล์เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ให้หน่อย เพราะอยากนำมาลงหนังสือ หรือเอามาตีพิมพ์เผยแพร่เป็นอย่างมาก เนื่องจากแต่ละคน เขียนเรื่องหนังสือของตัวเองส่งมาให้อย่างตั้งอกตั้งใจ เขียนขึ้นมาจากความรักหนังสืออย่างแท้จริง และส่วนมาก หนังสือที่เขียนถึงเกือบทั้งหมด ล้วนเป็นหนังสือดี ที่น่าจะได้อ่านกันสืบต่อไปในโลกนี้ เผื่อใครอยากจะไปหามาอ่านตามบ้าง
รับรองว่าไม่ผิดหวังหรอกค่ะ
---------------
ต้องขอบคุณเจ้าของจดหมายทุกฉบับ เจ้าของตัวหนังสือทุกตัว ที่ฉันขอวิสาสะนำมาลงในพื้นที่ตรงนี้โดยพละการ ด้วยหวังว่าคุณๆ ทั้งหลายจะเต็มใจ หรือหากประเมินผิดพลาดไป ก็ยินดียอมรับผลที่จะตามมาทุกเงื่อนไข สำคัญที่สุดก็คือ หากคุณยินดี หากคุณเต็มใจ หากคุณเป็นเจ้าของเรื่องราวเหล่านี้ กรุณาแสดงตัว หรือเขียนคอมเมนต์เล็กๆ น้อยทิ้งเอาไว้ให้เจ้าของบล็อกดีใจบ้างนะคะ หรือจะมาคุยกันใหม่อีกรอบก็จะดีใจเป็นอย่างยิ่งค่ะ นะ มาคุยเรื่องหนังสือกันให้สาใจไปเลยดีกว่า
----------------
หากคุณที่เพิ่งเข้ามาเจอ "ชั้นหนังสือคนตาย" ที่นี่ครั้งแรก ก็ยังไม่สายนะ ถ้าจะลองสำรวจตู้หนังสือของคุณ แล้วเอามาบอกเล่ากันบ้าง :) ลองอ่านตัวอย่างน่ารัก หรืออาจจะน่าตาย :) ของคนที่เคยส่งมาก่อนก็ได้นะคะ

---------------

สิ่งที่คุณจะได้อ่าน ใน next entry ต่อๆไปคือจดหมายบางส่วนจากผู้อ่านที่เขียนมาค่ะ บางฉบับเคยตีพิมพ์ไปแล้วในมติชนสุดสัปดาห์

-------------------

แต่บางฉบับเพิ่งนำมาเผยแพร่ตีพิมพ์ครั้งแรกที่นี่