dead reading,best reading

dead
reading
best
reading


ชั้นหนังสือ
คนตาย


สมัยยังเรียนหนังสือ เวลาไปบ้านเพื่อนคนหนึ่ง ฉันจะบอกมันทุกครั้งว่า "ฉันอิจฉาแกว่ะ" เพราะมันเกิดมาท่ามกลางหนังสือดีๆ มากมายบ้านเพื่อนคนนี้มีตู้หนังสือไม้สักใหญ่โตมาก เนื้อไม้เป็นมันเงาวับ ในตู้นั้นบรรจุวรรณกรรมระดับสุดยอดเอาไว้เพียบ

----------------------------
The Old Man and the Sea
New York: Life Magazine, 1952.
www.lib.udel.edu
--------------------------------------
ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ สงครามชีวิต ของ ศรีบูรพา, ขลุ่ยไม้ไผ่ ของ พจนา จันทรสันติ, The Old Man and the Sea ของ เออร์เนสต์ เฮมมิ่งเวย์, Of Mice and Men หรือหนังสือเล่มอื่นๆ ของ จอห์น สไตน์เบค ประมาณว่าน่าจะมีครบชุดเลยล่ะแม้กระทั่ง "คู่กรรม" ของทมยันตี ก็มีอยู่ในบ้านมันตั้งแต่เกิดแล้ว
----------------------
ในขณะที่ฉันต้องใช้ความเพียรพยายามค้นควานหาหนังสือเหล่านี้มาอ่าน จากห้องสมุดบ้าง จากเพื่อนๆ พี่ๆ เขามีเมตตาหยิบยื่นให้ยืมอ่านบ้าง บางเล่มตอนนั้น ต้องไปอาศัยยืนอ่านเอาทีละหน้าสองหน้าจนจบเล่มจากร้านหนังสือละแวกหน้ามหาวิทยาลัย เพราะไม่มีเงินซื้อ
-----------------
แต่เมื่อถึงวันนี้ ฉันไม่ได้รู้สึกอิจฉาเพื่อนคนนี้อีกต่อไปแล้ว เมื่อเริ่มตระหนักได้ว่า การเติบโตมาในบ้านที่ไม่มีของแบบนี้มาตั้งแต่เกิด มันก็ดีอยู่เหมือนกัน เพราะมันทำให้เราขวนขวายหาอ่านโน่นอ่านนี่อย่างไม่รู้จบสิ้น ในขณะที่เพื่อนฉันคนนั้น ...ในทุกวันนี้มันอ่านคู่กรรมยังไม่จบเล่มเลย

ฉันได้รับสิ่งดีๆ มากมายในชีวิตจากการอ่านหนังสือ หนังสือดีๆ ชักจูงให้ฉันได้พบเจอคนที่ดี ได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ทำให้ฉันมีโอกาสก่อร่างสร้างฝันให้เป็นจริงได้อย่างไม่รู้จบสิ้น
------------------
ฉันเพิ่งอ่านพบบทความเรื่อง Learning to Read a Doctor’s Books ของ เคน กอร์ดอน ที่ได้เขียนเล่าเรื่องการเสียชีวิตของอายุรแพทย์วัยแปดสิบกว่าปีผู้หนึ่งว่า แม้ครอบครัวของเขากับนายแพทย์ชราผู้นี้ จะสนิทสนมคุ้นเคยกันมานานปี แต่เขาก็ไม่เคยรู้สึกว่าได้ "รู้จัก" กับผู้ตายอย่างแท้จริงเลยจนกระทั่งนายแพทย์ผู้นี้ได้เสียชีวิตลง และกอร์ดอนเพื่อนๆ ก็ได้เข้าไปในบ้านของผู้ตาย เพื่อเก็บข้าวของที่ต้องการเอาไว้ ก่อนที่จะยกมรดกที่ที่เหลือให้เป็นสาธารณกุศล
ภายในอพาร์ตเมนต์มีข้าวของมากมาย เช่น แว่นตาสะสมหลายอัน, แผ่นเสียงจำนวนมาก, เบียร์โคโรน่าหนึ่งขวดในตู้เย็น และสิ่งที่กอร์ดอนสนใจที่สุดก็คือบนชั้นหนังสือ – มีหนังสือแปลหลายภาษาที่เกี่ยวกับเรื่องอายุรเวช ซึ่งเป็นของสะสมกอร์ดอนประทับใจมากบนชั้นหนังสือนั้น กอร์ดอนเห็นหนังสือ Paris France ฉบับพิมพ์ครั้งแรกของ เกอร์ทรูด สไตน์, นวนิยายเรื่อง Days of Wrath ของ อังเดร มัลโรซ์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ในปี 1936, หนังสือ Cast a Cold Eye ของ แมรี่ แม็กคาร์ธี่ย์, มีหนังสือรวมบทกวีของ ไดแลน โธมัส, The Second Tree From the Corner ของ อี.บี.ไวท์ โดยกอร์ดอนได้หยิบเอาหนังสือ War and Peace ของ ลีโอ ตอลสตอย ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1899 มาด้วย
-----------------
นอกจากนี้ บนชั้นหนังสือของนายแพทย์ผู้ตายยังมีหนังสือ English-language Rabelais ฉบับตีพิมพ์ในปี 1905 มีนิยายภาษาฝรั่งเศส Madame Bovary ของกุสตาฟ โฟลแบร์ ฉบับปี 1957, มีหนังสือ The Aleph and Other Stories ของ ฌอร์จ หลุยส์ โบชีส์, Consider the Oyster ของ เอ็ม.เอฟ.เค.ฟิชเชอร์ และยังมีหนังสือเปื่อยผุอย่าง Satchmo ที่แต่งโดย หลุยส์ อาร์มสตรอง และ St.Peter’s Day and Other Tales ของ แอนตัน เชคอฟ อยู่ด้วยรสนิยมทางวรรณกรรมของผู้ตาย ทำให้กอร์ดอนประหลาดใจมาก ว่าเหตุใดผลงานของ อี.บี.ไวท์ และ ตอลสตอย รวมทั้ง งานเขียนของ เกอร์ทรูด สไตน์ จึงปรากฏอยู่ในชั้นหนังสือสะสมของนายแพทย์ชราผู้นี้ และกอร์ดอนก็เสียดายมาก ที่เขาไม่เคยมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ตายถึงหนังสือเหล่านี้เลย
----------------
และในทุกวันนี้ กอร์ดอนก็ยังไม่มีคำตอบเกี่ยวกับหนังสือเหล่านี้
----------------
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ลองถามตัวเราเองบ้างดีไหม ว่าถ้าเกิดเราเสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน แล้วมีใครเข้าไปรื้อชั้นหนังสือที่บ้านเราเหมือนกอร์ดอน พวกนั้นจะได้เจออะไรบนชั้นหนังสือของเราบ้าง
-----------------
ลองเขียนมาเล่าสู่กันฟังหน่อยดีไหมคะ


-----------------------
deadreading
ชั้นหนังสือคนตาย
ตีพิมพ์ครั้งแรก
ในคอลัมน์ 'ปราย พันแสง
นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์
ฉบับวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2547
ปีที่ 25 ฉบับที่ 1263

ภาพและข้อมูล www.lib.udel.edu
www.oceanworld.tamu.edu
www.losgardenios.com.pl
www.manhattanrarebooks.com

--------------------------
ปรากฎว่า หลังจากนั้น มีผู้อ่านเขียนจดหมายเข้ามาร่วมสนุกเป็นจำนวนมาก ฉันเองคัดนำไปลงตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ได้ประมาณสิบกว่าฉบับ แต่ยังเก็บจดหมายเหล่านั้นเอาไว้อย่างดีทุกฉบับ พอมีเวลา เลยขอวานแรงน้องๆ ใกล้ตัว ช่วยนำจดหมายเหล่านั้นมาพิมพ์เป็นไฟล์เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ให้หน่อย เพราะอยากนำมาลงหนังสือ หรือเอามาตีพิมพ์เผยแพร่เป็นอย่างมาก เนื่องจากแต่ละคน เขียนเรื่องหนังสือของตัวเองส่งมาให้อย่างตั้งอกตั้งใจ เขียนขึ้นมาจากความรักหนังสืออย่างแท้จริง และส่วนมาก หนังสือที่เขียนถึงเกือบทั้งหมด ล้วนเป็นหนังสือดี ที่น่าจะได้อ่านกันสืบต่อไปในโลกนี้ เผื่อใครอยากจะไปหามาอ่านตามบ้าง
รับรองว่าไม่ผิดหวังหรอกค่ะ
---------------
ต้องขอบคุณเจ้าของจดหมายทุกฉบับ เจ้าของตัวหนังสือทุกตัว ที่ฉันขอวิสาสะนำมาลงในพื้นที่ตรงนี้โดยพละการ ด้วยหวังว่าคุณๆ ทั้งหลายจะเต็มใจ หรือหากประเมินผิดพลาดไป ก็ยินดียอมรับผลที่จะตามมาทุกเงื่อนไข สำคัญที่สุดก็คือ หากคุณยินดี หากคุณเต็มใจ หากคุณเป็นเจ้าของเรื่องราวเหล่านี้ กรุณาแสดงตัว หรือเขียนคอมเมนต์เล็กๆ น้อยทิ้งเอาไว้ให้เจ้าของบล็อกดีใจบ้างนะคะ หรือจะมาคุยกันใหม่อีกรอบก็จะดีใจเป็นอย่างยิ่งค่ะ นะ มาคุยเรื่องหนังสือกันให้สาใจไปเลยดีกว่า
----------------
หากคุณที่เพิ่งเข้ามาเจอ "ชั้นหนังสือคนตาย" ที่นี่ครั้งแรก ก็ยังไม่สายนะ ถ้าจะลองสำรวจตู้หนังสือของคุณ แล้วเอามาบอกเล่ากันบ้าง :) ลองอ่านตัวอย่างน่ารัก หรืออาจจะน่าตาย :) ของคนที่เคยส่งมาก่อนก็ได้นะคะ

---------------

สิ่งที่คุณจะได้อ่าน ใน next entry ต่อๆไปคือจดหมายบางส่วนจากผู้อ่านที่เขียนมาค่ะ บางฉบับเคยตีพิมพ์ไปแล้วในมติชนสุดสัปดาห์

-------------------

แต่บางฉบับเพิ่งนำมาเผยแพร่ตีพิมพ์ครั้งแรกที่นี่