อาณานิคมหนังสือที่ต้องอ่านทั้งชีวิต






อาณานิคม
หนังสือ
ที่ต้องอ่าน
ทั้งชีวิต


หนังสือบางเล่ม ไม่เพียงแต่ส่งผลสะเทือนต่อชีวิตผู้อ่านสามัญเช่นเรา-ท่านเท่านั้น หากแต่ยังสั่นสะเทือนต่อความเป็นไปของโลกใบนี้ได้ด้วย
------------
ในช่วง 3-4 ปีมานี้ กระแสวรรณกรรมต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาในเมืองไทยจำนวนมาก จนแทบจะกลายเป็นอาณานิคมต่างชาติไปแล้ว นักอ่านไทยเรา นิยมอ่านแต่วรรณกรรมต่างประเทศ หรือหนังสือแปล จนหลายฝ่ายวิตกและหวั่นเกรงว่า วรรณกรรมพันธุ์ไทย ต้องตกต่ำ จนไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดกันเลยนับแต่นี้
--------------------
ฉันไม่คิดว่ามันจะเป็นเรื่องการตลาดหรือการค้าขายอย่างเดียว เพราะบางที วรรณกรรมต่างประเทศที่กำลังนิยมอ่านกันอยู่ตอนนี้ อาจกำลังปรับมาตรฐานการอ่านของเราอยู่ก็ได้
---------------
การที่ผู้คนชอบอ่านวรรณกรรรมต่างประเทศมากกว่าวรรณกรรมไทย นั่นอาจเป็นเพราะว่าเนื้อหาหรือรูปแบบบางอย่างของมัน สามารถตอบสนองรสนิยมการอ่านของพวกเขาได้มากกว่าก็ได้ บางทีเราอาจจะต้องทำความเข้าใจในสิ่งที่วรรณกรรมต่างประเทศเสนอสนองให้กับผู้อ่านมากกว่า
-------------------
อาณานิคมการอ่าน ทำให้นึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Books That Changed the World ของ Robert B.Downs เป็นหนังสือที่รวมไว้ซึ่งเรื่องราวของหนังสือที่มีอิทธิพลต่อความเป็นไปของโลก เกิดขึ้นในช่วงเวลาสี่ร้อยปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ศตวรรษที่16 จนกระทั่งศตวรรษที่ 20 ซึ่งถือว่าเป็นยุคที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางอารยธรรมมากที่สุดในช่วงหนึ่งพันปีที่ผ่านมา
----------------
เนื้อหาทั้งหมด ของ Books That Changed the World กล่าวถึงหนังสือหรือวรรณกรรมที่มีอิทธิพลต่อประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม อารยธรรม และ ศาสตร์ต่าง ๆ ในช่วงเวลาต่าง ๆ ที่มีการบันทึกอาไว้ ในรูปแบบงานเขียน เพื่อเป็นการบอกเล่าถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มีเกิดผลกระทบที่มีต่อมวลมนุษย์ทั้งหลาย ซึ่งหนังสือเล่มนี้ กล่าวถึงหนังสือทั้งหมดในเล่ม ด้วยพื้นฐานความคิดที่ว่า ในแต่ละยุคสมัย จะต้องมีหนังสือหรืองานเขียนของยุคนั้นเกิดขึ้น และจะต้องส่งผลกระทบต่อผู้คนและวัฒนธรรมในยุคนั้นในด้านหนึ่งเสมอ
--------------------------
จากการศึกษาอย่างจริงจังของ โรเบิร์ต บี.ดาวน์ส เขามีข้อสรุปว่า องค์ความรู้ด้านโบราณคดีหรือ มานุษยวิทยาของโลกเราทุกวันนี้ ยังไม่สามารถบ่งบอกถึงจุดเริ่มต้นของวรรณกรรมได้อย่างชัดเจนนัก จนกระทั่งมนุษย์เรามีการพัฒนาทางด้านงานเขียน เช่นมีการเขียนภาพตามผนังถ้ำ มีการประดิษฐ์อักษรเฮียโรกลีฟ,อักขระจีน เรื่อยมาจนกระทั่งตัวอักษรภาษาอังกฤษที่ใช้กันอยู่ทุกนี้
---------------------------
มนุษย์เราในยุคโบราณสร้างสรรค์วรรณกรรมด้วยการเขียนจารึกเอาไว้บนก้อนหิน ดินเหนียว จนกระทั่งมีการประดิษฐ์กระดาษปาปีรัส นักประวัติศาสตร์ทั้งหลายจึงสามารถประติดปะต่องานเขียนต่างๆเหล่านี้เข้าด้วยกัน จนสามารถถอดความหมายต่างๆ ออกมาได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพแห่งสุเมเรียน บาบิโลเนียน อียิปต์เชียน ฮิตไทต์ โฟนิคเชียน แอสซีเรียน และ อารยธรรมอื่น ๆ ในอดีตกาล
-------------------
โลกเราในยุคโบราณ มีการโยกย้ายถิ่นฐานของผู้คนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการบุกเบิกดินแดนใหม่ การไล่ล่าอาณานิคม การแลกเปลี่ยนทางการค้า ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ ก็เป็นเหตุให้มีการแลกเปลี่ยนภูมิปัญญา ทำให้ผลงานวรรณกรรมหรืองานเขียนต่างๆ ก็มีการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งมันอาจจะไม่ต่างอะไร กับกระแสนิยมอ่านหนังสือแปลที่กำลังแพร่หลายในบ้านเราตอนนี้!!
-----------------------
ถ้านักอ่านไทยเรายุคนี้ จะต้องตกเป็นทาสอาณานิคมหนังสือแปลเหมือนที่หลายฝ่ายเขาว่ากันจริงๆ ก็จะแปลกอะไรตรงไหน เพราะคนไทยเราก็เป็นทาสโน่นนี่มากมายอยู่แล้วไงตอนนี้
-----------------------
ทาสฮอลลีวู้ด,ทาสเกาหลี,ทาสยี่ห้อแบรนด์เนม – เป็นอาทิ
------------
จะเป็น "ทาสหนังสือ" อีกอย่าง ก็ออกเท่ดีจะตาย ว่ามั้ย :)
------------------------
--------------------------
5.
สมัยเป็นเด็กนักเรียน
เราเองยังเคยคิดโขมยหนังสือในห้องสมุดเลย
--------------
อ่านเรื่องที่คุณ’ปราย เขียนลงมติชนสุดฯฉบับ 1263 แล้วรู้สึกคันไม้คันมือ อยากเขียนเล่าให้ฟังตาคำชวน
--------------
อยากเล่าให้ฟังสั้นๆถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่เคยสถิตอยู่ในตู้หนังสือคอลเลคชั่นของเรา ที่จริงจะเรียกว่าหนังสือคอลเลคชั่นไม่น่าจะถูกนัก เพราะเก็บรวมๆ กันในตู้หนังสือหลายร้อยเล่ม หลายเนื้อหา รูปแบบ รวมๆ กันมั่วไปหมด แต่ยังไง หนังสือปกนี้มีที่มาให้ต้องเล่าถึง เพราะวนเวียนอยู่ในชีวิตเราอย่างน้อยตั้ง 18-19 ปีเข้านี่แล้ว หนังสือที่ว่าคือ One Robe,One Bowl ของ Ryokan แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย John Stevens และแน่นอน ตอนนี้ไม่ได้อยู่ในตู้หนังสือแล้ว มีคนยืมไปและทำให้เราเข้าใจว่าเขาคงชอบไม่แพ้กัน เพราะถึงป่านนี้ยังไม่คืนเลย แต่ยังไงไม่ว่ากันอยู่แล้ว เข้าใจคอหนังสือด้วยกันดี เหมือนครั้งหนึ่งสมัยเป็นเด็กนักเรียน เราเองยังเคยคิดโขมยหนังสือในห้องสมุดเลย ทำไงได้ หนังสือมันดี และอยากอ่านต่อแล้วเขาไม่ให้ยืม เลยกะโขมยเสียเลย ตอนนั้นยังโง่อยู่ มองไม่เห็นหรอกว่า มันไม่ดีต่อส่วนรวม
------------
ก่อนที่ One Robe,One Bowl จะเคยขอเข้ามาอยู่ในคอลเลคชั่นชั้นหนังสือ เมื่อประมาณห้าปีที่แล้ว ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 19 ปีก่อนโน้น ขณะยังเรียนหนังสืออยู่ ม.5 จำได้ว่าที่หอพักนักเรียน เราพบหนังสือปกเก่าคร่ำคร่าอยู่เล่มหนึ่ง ชื่อของมันคือ “คืนฟ้าฉ่ำฝน” เป็นบทกวีนิพนธ์ของเรียวกัน พระเซนชาวญี่ปุ่น แปลโดยสมภาร พรมทา ปกมันเก่าคร่ำจนจำไม่ได้หรอกว่าภาพปกเป็นยังไง คงอ่านกันมาหลายรุ่นเรายังเป็นเด็กนักเรียนอยู่ แต่พอได้อ่านเกร็ดประวัติของเรียวกันก็ชอบทันที คนอะไรอยู่ในกระท่อม วันดีคืนดี มีหน่อไม้งอกออกมาภายในกระท่อม มันโตรวดเร็วพรืดพราด ทำเอาเรียวกันกระวนกระวายใจ ยอดไผ่เริ่มแตะม้ายาวใกล้หน้าต่าง เขายิ่งตื่นเต้นนอนไม่หลับ ในที่สุด เขายินยอมเจาะม้ายาวให้เป็นช่องให้หน่อไม้ไผ่ทะลุผ่านไป และมันอาจโตพรูดเดียวถึงหลังคากระท่อมได้
---------------
จำไม่ได้แล้วว่าเขาเจาะหลังคากระท่อมด้วยหรือเปล่า แต่คราวนั้น หนังสือบทกวีเล่มนี้ก็วนเวียนอยู่ในชีวิตเราตลอด และได้มาเป็นเจ้าของ “กวีนิพนธ์ของเรียวกัน” ฉบับแปลโดยสมภาร พรมทา ในอีกบางปีต่อมา ซึ่งที่แท้ก็เป็นเล่มเดียวกัน แต่เป็นฉบับปรับปรุงเพิ่มเติม และเมื่อประมาณสัก 7 ปีทีผ่านมา ก็ได้เจออีกเวอร์ชั่นหนึ่ง ของชวนิต ศิวะเกื้อ ในร้านหนังสือเก่าแถวพัทลุง จากต้นฉบับภาษาอังกฤษเล่มเดียวกันนี่แหละ ในชื่อ “น้ำค้างบนใบบัว” จนล่าสุดเมื่อห้าปีที่แล้ว ก็ได้เป็นเจ้าของ One Robe,One Bowl ฉบับจริง ปกไม่สวย (ตามสายตาคนไทย) เป็นรูปศิลปะประดิษฐ์อักษรโดยเรียวกัน

-----
ภาคภาษาไทย น่าจะมีเวอร์ชั่นแปลออกมาได้เรื่อยๆ เพราะรู้สึกว่ามันน่าจะแปลให้ “ถึง” ได้อีก สำนวนในฉบับภาษาอังกฤษนี่กระชับ ง่าย ชัดเจน และมีความรู้สึก
------------
เดี๋ยวนี้ ค้นตู้หนังสือดูแล้ว ที่มีอยู่จริงๆ ก็คือ “กวีนิพนธ์ของเรียวกัน” ของ สมภาร พรมทา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ปี 2535 และ “น้ำค้างบนใบบัว” ของชวนิต ศิวะเกื้อ ที่หายไปจากตู้ หรืออยู่ที่ใครคนหนึ่งที่ยืมไป ก็คือ One Robe,One Bowl นี่แหละ เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นหนังสือที่ยังต้องอ่าน อ่านแล้วอ่านอีก อ่านเหมือนบทสวดมนต์เลยก็มี ถ้าใครมีหนังสือเล่มนี้อยู่ในมือ ขอทำสำเนาหน่อยเถอะ จักขอบพระคุณยิ่ง แต่ถึงไม่มีก็ไม่เป็นไรเราเชื่อของเราแบบไม่มีเหตุผลให้เชื่อได้เท่าไหร่ ว่าสักวันหนึ่งเราจะได้เป็นเจ้าของมันอีก เราเข้าใจคำว่า “หนังสือบางเล่ม คุณต้องอ่านมันทั้งชีวิต” จากหนังสือเล่มนี้
--------------
จาก: คุณ Tsb / จ.นครศรีธรรมราช

------------------
จดหมายของคุณ Tsb ทำเอาขนลุก อันที่จริง เคยอ่านแล้วมานานแล้วเหมือนกันนะ สำหรับ “กวีนิพนธ์ของเรียวกัน” ของ สมภาร พรมทา สงสัยอ่านมานานเกินไปเลยจำอะไรดีๆ จากหนังสือ อย่างที่คุณ Tsb เล่ามาไม่ได้แม้แต่น้อย
---------------
เล่าเร้าใจขนาดนี้ ต้องหามาอ่านอีกให้ได้เหมือนกัน
--
รู้สึกไหมว่า เวลาที่คนรักหนังสือ แนะนำหนังสือดีๆ ให้กัน มันจะมีอิทธิพลรุนแรงต่อเรามาก เพราะมันไม่ใช่หนังสือที่เราอ่านตามชาวบ้านเขาไปเป็นแฟชั่น เราไม่ได้อ่านเพราะเห็นว่ามันเป็นหนังสือที่ใครๆ เขาก็อ่านกัน แต่เราอ่านมัน,อ่านแล้วรักและผูกพัน
-----------------
เพราะนั่นเป็นหนังสือที่สั่นสะเทือนชีวิตเราอย่างจริงแท้!
--------------